Call now
+66858369994
Messenger
Line
Email
[email protected]

Hair Transplant in Bangkok, Thailand
+66858369994
Dr.Prima's Blog

บทความคุณหมอพรีมา

หัวล้านเกิดจากอะไร

สาเหตุของปัญหาหัวล้าน

ที่เค้าว่า หัวล้าน ขี้น้อยใจนี่จริงรึเปล่าไม่รู้ รู้แต่ว่าโดนล้อว่าหัวล้านนี่เจ็บจี๊ดไปถึงขั้วหัวใจ เคยสงสัยมั้ยคะว่าปัญหาหัวล้านนั้นเกิดจากอะไรกันแน่ เดี๋ยววันนี้หมอจะมาเฉลยให้ฟังค่ะ

สาเหตุของหัวล้านเนี่ยมันเชื่อมโยงกับปัญหาผมร่วง ผมบางนั่นแหละ หมอแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านบทความเรื่อง ผมร่วง ผมบาง เกิดจากอะไร ก่อน จะทำให้เข้าใจมากขึ้น

ปัญหาหัวล้านเป็นภาคต่อจากเรื่องผมร่วง ผมบางนั่นแหละค่ะ คนเราไม่ได้อยู่ดีๆ ก็หัวล้านเลยหรอก เคยมีผมกันมาก่อนแล้วทั้งนั้น แต่เมื่อผมร่วงเยอะมากเข้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็เกิดจากเรื่องของฮอร์โมนและกรรมพันธุ์ ก็จะทำให้ผมเริ่มบาง ผมบางมากๆ จนร่วงแล้วก็ขึ้นใหม่วนเป็นลูป พอหมดโควต้า ผมก็ไม่ขึ้นอีก นั่นคือจุดเริ่มต้นของภาวะหัวล้านนั่นเอง

สาเหตุหัวล้านแบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลักๆ คือ

หัวล้านจากกรรมพันธุ์ 

เกิดจากระดับเอนไซม์ 5α-reductase (5-alpha reductase) ที่บริเวณหนังศีรษะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วเอนไซม์นี้จะเปลี่ยนฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) หรือ ฮอร์โมนเพศชายมาเป็นฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) ซึ่งเจ้า DHT นี่แหละที่เป็นต้นเหตุของผมร่วงผมบาง  ทำให้เส้นผมที่งอกขึ้นมามีลักษณะเปราะบาง หลุดร่วง ทำให้ผมใหม่ไม่ขึ้นและเกิดปัญหาหัวล้านตามมานั่นเองค่ะ ซึ่งก็พบได้ในผู้หญิงด้วยเช่นกัน แต่ส่วนมากจะพบในผู้ชาย 

ปัญหาหัวล้านในผู้ชายมีจำแนกตามความรุนแรงออกเป็น 7 ระยะด้วยกัน

types of baldness
  • ระยะที่ 1     เป็นระยะที่ควบคุมได้ คนที่เป็นแบบระยะที่ 1 ยังคงมีผมดกตามปกติโดยไม่มีภาวะหน้าผากเถิกกว้าง
  • ระยะที่ 2   แนวผมด้านหน้าเริ่มมีการถอยร่นเข้าไปเพียงเล็กน้อย โดยทั่วไปจะเป็นที่บริเวณขมับทั้ง 2 ข้าง
  • ระยะที่ 3     โดยทั่วไปอาการผมร่วงจะเริ่มเห็นได้ชัดในระยะที่ 3 ซึ่งจะแบ่งย่อยเป็น 2 รูปแบบ คือ

               3.1) แนวผมและขมับทั้ง 2 ข้างเริ่มเถิกขึ้นไปด้านบนกว้างคล้ายตัว M มากขึ้น

               3.2) นอกจากขมับจะเถิกมากขึ้นแล้วผมบริเวณกลางกระหม่อมจะเริ่มบางลงเห็นเป็นจุดเล็กๆ บนกลางศีรษะ

  • ระยะที่   เมื่อถึงระยะนี้ อาการผมร่วงจะมีมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งแนวผมและแนวขมับเถิกมากขึ้น จุดที่บางกลางกระหม่อมมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงมีผมอยู่ระหว่างจุดผมบางด้านบน และแนวผมที่เถิกด้านหน้า
  • ระยะที่ 5     ระยะนี้มีลักษณะคล้ายกับระยะที่ 4 แต่รุนแรงกว่า แนวผม ขมับทั้งสองข้างยังคงเถิกขึ้นไปเรื่อยๆ และช่วงรอยต่อผมระหว่างแนวผมด้านหน้าและจุดหัวล้านด้านบนจะบางกว่าระยะก่อนหน้านี้อย่างมาก
  • ระยะที่   แนวผมที่เถิกด้านหน้า และบริเวณล้านกลางกระหม่อมขยายมาชนกัน
  • ระยะที่ 7   ระยะนี้หัวจะล้านเตียนทั้งหัว จะมีผมเหลืออยู่แค่บริเวณด้านข้างเหนือหูและด้านหลังเท่านั้น

ส่วนผู้หญิงรูปแบบหัวล้านจะแตกต่างกับของผู้ชาย โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะดังต่อไปนี้ค่ะ

  • ระยะที่ 1     ผมบางเล็กน้อยเริ่มจากจุดแสกกลางหัว
  • ระยะที่ 2   แสกตรงกลางหัวเริ่มขยายวงกว้างมากขึ้น
  • ระยะที่ 3   แสกตรงกลางล้านเตียนเป็นวงกลมกว้าง
หัวล้าน ผู้หญิง

หัวล้านจากสาเหตุอื่นๆ

  • โรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata)

เป็นโรคที่ทำให้ผมร่วงมีลักษณะเป็นวงคล้ายเหรียญ มีขอบเขตชัดเจน สาเหตุของการเกิดโรคนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดนัก แต่เชื่อกันว่าน่าจะเกิดจากความผิดปกติของระบบ  Autoimmune   และมักพบว่ามีความเกี่ยวข้องกับโรค Autoimmune อื่นๆ เช่น โรคไทรอยด์ โรคด่างขาว โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง  เป็นต้น คนไข้ที่เป็นโรคนี้อาจมีผมร่วงแค่หย่อมเดียว หรือหลายหย่อมก็ได้ บางคนอาจมีหลายหย่อมมารวมกันจนดูเหมือนร่วงทั้งศีรษะ หรืออาจเป็นบริเวณไหนที่มีขนก็ได้ เช่น คิ้ว ขนตา หรือขนตามตัวบริเวณต่างๆ 

การรักษานั้นจะรักษาด้วยการทายา และฉีดยาเข้าบริเวณหย่อมผมร่วง จากนั้น ผมจะเริ่มขึ้นใหม่ประมาณ 1-1.5 เดือนหลังการรักษา  หากไม่รีบรักษาก็อาจนำไปสู่ภาวะหัวล้านได้ในที่สุดค่ะ

Alopecia Areata
  • โรคดึงผมตัวเอง (Trichotillowmania)

เป็นโรคทางจิตเวชแบบย้ำคิดย้ำทำที่ผู้ป่วยจะมีอาการดึงเส้นผม ขนคิ้ว ขนตา หนวดเครา ขนอวัยวะเพศของตัวเอง มีทั้งแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว ปัจจุบันยังไม่มีปรากฏชัดเจนว่าสาเหตุของโรคเกิดขึ้นจากอะไร แต่มีสมมติฐานในการเกิดโรคหลายอย่างเช่น เกิดจากระดับของสื่อประสาทส่วนสมองขาดความสมดุล ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมการดึงผมของตัวเองได้ หรือจะเกิดจากความเครียดที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรม สามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยจะอาศัยคนใกล้ตัวคอยสังเกตและเตือนเวลามีอาการ หรืออาจต้องรักษาด้วยการทานยาก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ค่ะ

  • ป่วยจากโรคบางชนิด

เป็นอะไรที่ไม่ได้พบบ่อย ส่วนใหญ่เกิดจากอาการป่วยโรคต่างๆ เช่น  โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคโลหิตจาง โรคตับอักเสบ ภาวะผมร่วงหลังคลอดลูก  และการทำเคมีบำบัด เป็นต้น

ปัจจัยอื่นที่อาจส่งผลให้หัวล้าน

ความเครียดสะสม

เวลาที่ร่างกายเกิดความเครียดจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า คอร์ติซอล ออกมามากกว่าปกติ ส่งผลให้เส้นผมอ่อนแอ และมีวงจรชีวิตของผมสั้นกว่าปกติ และทำให้ผมร่วงมากขึ้นในที่สุด ปัญหานี้แก้ได้ง่ายๆ จากการกำจัดความเครียดของเราอย่างสมดุล เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอ การหางานอดิเรกทำเพื่อให้ผ่อนคลาย ปรึกษาความเครียดกับคนที่เราไว้ใจ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ช่วยได้ค่ะ

หลังฉีดวัคซันป้องกันโควิด 19

คนไข้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 แล้วเกิดภาวะผมร่วงเป็นหย่อมๆ นั่นก็เพราะการฉีดวัคซีน เป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย ซึ่งอาจมีการกระตุ้นการเกิดภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ทำให้เกิดการสร้างเม็ดเลือดขาวที่บริเวณโคนผมได้ ซึ่งจะทำให้วงจรชีวิตของเส้นผมเกิดอาการรวน และหลุดร่วงลงได้ แต่ไม่ใช่เพราะวัคซีนโควิด 19 เท่านั้นที่ทำให้ผมร่วง เพราะภาวะผมร่วงหลังฉีดวัคซีนนั้น ยังครอบคลุมไปถึงการฉีดวัคซีนอื่นๆ ได้ด้วย เช่น วัคซีนงูสวัด, วัคซีนไวรัส ตับอักเสบบีและวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น

หัวล้าน รักษาอย่างไร

การรักษาหัวล้านจากโรคบางชนิด

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและระดับหัวล้านว่าเราอยู่ในระยะไหน หากสาเหตุมาจากโรคบางชนิดควรรักษาอาการของโรคให้หายเสียก่อน แล้วค่อยมารักษาปัญหาหัวล้าน ผมร่วงผมบางกันต่อไป ถึงแม้อาการหัวล้านจากโรคต่างๆ นี้จะเป็นอาการเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่อย่าชะล่าใจไปนะคะเพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้ผมร่วงเยอะจนกู่ไม่กลับแล้วก็ได้ค่ะ

รักษาหัวล้านด้วยการปลูกผม

แน่นอนว่าหากเราเข้าสู่ภาวะหัวล้านแล้ว ต่อให้ทานยา ทายาเท่าไหร่มันก็ไม่ขึ้น เพราะถ้าล้านแล้วก็คือไม่มีรากผมเหลืออยู่ ทางเลือกในการรักษาจะเหลืออย่างเดียวคือ “ศัลยกรรมปลูกผม” ซึ่งจะเป็นการย้ายผมทั้งรากจากบริเวณด้านหลังศีรษะมาปลูก เป็นแนวทางรักษาที่ถาวรและเห็นผลที่สุด เพราะการปลูกผมจะย้ายผมจาก Donor Area ซึ่งเป็นบริเวณผมถาวรที่ไม่ได้รับผลกระทบจากฮอร์โมน DHT มาปลูกในบริเวณที่มีปัญหา ผมที่ปลูกจึงอยู่กับเราไปตลอดนั่นเอง

Graft placement step
ผลลัพท์ปลูกผมกลางศีรษะ 1 ปี

เห็นแบบนี้แล้วอย่าปล่อยให้ปัญหาผมร่วง ผมบางมันลุกลามจนกลายเป็นหัวล้าน เพราะค่าใช้จ่ายมันก็จะบานปลายตามเช่นกัน ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ ที่เริ่มรู้ตัวว่ามีปัญหา เพราะการรักษาเสียตั้งแต่ปัญหายังไม่ร้ายแรงนั้นจะมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามาก เช่น การทานยา ทายา หรือแม้แต่การใช้เซรั่มบำรุงหนังศีรษะ สำหรับในบทความหน้า หมอจะกลับมาทบทวนกันอีกรอบว่าอะไรคือสัญญาณที่บอกว่าเรากำลังมีปัญหาผมร่วงค่ะ

รีวิวปลูกผม
รีวิวหลังปลูกผม 12 เดือน
รีวิวปลูกผม
line
phone

Prima Tossaborvorn

ผู้เขียน

พญ. พรีมา ทศบวร คือแพทย์ผิวหนังและศัลยกรรมปลูกผมที่รับรองโดย American Board of Hair Restoration Surgery (ABHRS) และเป็นสมาชิกของ International Society of Hair Restoration Surgery (ISHRS) ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ Hairsmith Clinic ซึ่งเป็นคลินิกศัลยกรรมปลูกผมและรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นผม

ดูบทความทั้งหมด

คุณคิดอย่างไรบ้าง

FREE CONSULTATION WITH OUR ABHRS-CERTIFIED SURGEON

Grow confidence with us!