ถ้าพูดถึงเรื่อง เส้นผม แน่นอนว่าต้องเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของร่างกายที่เราต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจในส่วนประกอบของผมและรู้ว่าเส้นผมมีหน้าที่อะไรจริงๆ บทความในวันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงหน้าที่และความสำคัญของเส้นผม พร้อมวิธีดูแลให้เส้นผมสวย อยู่กับเราไปนานๆ
หน้าที่หลักของเส้นผม
ก่อนจะไปทำความรู้จักกับโครงสร้างและวงจรของเส้นผม เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เส้นผมของเรามีหน้าที่อะไรบ้าง โดยในที่นี้จะขอแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ได้แก่ ปกป้อง ป้องกัน และส่งเสริม ซึ่งมีความสำคัญในแต่ละด้านดังนี้

1.) ปกป้อง
ถึงจะเป็นเพียงผมเส้นเล็กๆ แต่เส้นผมก็สามารถปกป้องศีรษะของเราจากความร้อน รวมไปถึงแสงแดดที่แผดเผาของประเทศไทยไว้ได้ ซึ่งอันตรายจากแสงแดดและความร้อนจากภายนอกนั้น เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะผิดปกติได้มากมาย เช่น อาการปวดหัวไมเกรน มะเร็งผิวหนังบางชนิด เป็นต้น
2.) ป้องกัน
ไม่เพียงแค่เส้นผมจะมีความสามารถในการปกป้องความร้อนจากภายนอกเท่านั้น เส้นผมยังมีหน้าที่ช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนจากภายในร่างกายของเราอีกด้วย นั่นเป็นเพราะร่างกายของคนเรา จำเป็นที่จะต้องรักษาอุณหภูมิเอาไว้ไม่ให้ร้อนไปหรือเย็นกินไป เพื่อรักษาการทำงานที่เป็นปกติของอวัยวะภายในร่างกายนั่นเอง
3.) ส่งเสริม
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นผมสามารถช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพภายนอกของเราให้ดูดีและสร้างความมั่นใจให้ตัวเราได้ การมีผมที่สวยและแข็งแรงจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของคนเราได้เป็นอย่างดี
อ่านเพิ่มเติม : ทำความรู้จักกับเส้นผมของเรา
โครงสร้างของเส้นผม
เส้นผม คือ การทับถมกันของเซลล์ที่ตายแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยกรดอะมิโนและแร่ธาตุมากมาย เช่น คาร์บอน (Carbon) ไฮโดรเจน (Hydrogen) ไนโตรเจน (Nitrogen) ฟอสฟอรัส (Phosphorus) และซัลเฟอร์ (Sulfur) เป็นต้น โดยจะแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ เส้นผม (Hair shaft) ที่งอกออกมาเหนือหนังศีรษะ และรากผม (Hair root) ที่อยู่ใต้หนังศีรษะ
โครงสร้างของเส้นผม (Hair shaft) แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

1.) เกล็ดผม (Cuticle)
เป็นส่วนที่อยู่ชั้นนอกสุด เกิดขึ้นจากเซลล์เคราติน (Keratin) เรียงตัวกันเป็นชั้นคล้ายเกล็ดปลา ทำหน้าที่ปกป้องเนื้อผมจากสิ่งต่างๆ ภายนอก
2.) เนื้อผม (Cortex)
ถัดจากเกล็ดผมเข้ามา จะเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุด ประกอบไปด้วยเส้นใยเคราตินเส้นยาวหลายสายและยึดเกาะกันเอาไว้ด้วยกาวที่เรียกว่า เซลล์เมมเบรน คอมเพล็กซ์ (Membrane complex) และยังมีเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ที่เป็นตัวกำหนดสีผมของเรา หากชั้นเนื้อผมถูกทำลายจะส่งผลทำให้เส้นผมอ่อนแอ เปราะบาง และแตกปลายได้ง่าย
3.) แกนผม (Medulla)
เป็นใจกลางของเส้นผม มีลักษณะเป็นรูกลวง ไม่มีบทบาทในการทำงานแต่ส่วนมากจะพบในผมของผู้ที่มีสภาพแข็งแรงหรือคนที่มีผมเส้นใหญ่และด้วยลักษณะที่มีรูกลวงแบบนี้เอง ทำให้แกนผมเป็นตัวที่เพิ่มความหนาของเส้นผมได้ด้วย
โครงสร้างของรากผม (Hair root)
รากผมเป็นส่วนที่ถูกฝังอยู่ใต้หนังศีรษะ ประกอบไปด้วย ต่อมรากผม (Hair Follicle) กระเปาะผม (Hair bulb) เนื้อเยื่อยึดต่อ (Connective Tissue) ซึ่งแต่ละส่วนล้วนมีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม เพราะมีเส้นเลือดรวมไปถึงเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยงเอาไว้ ทำให้รากผมมีการแบ่งตัวและเกิดเซลล์ผมใหม่ขึ้นมาได้เรื่อยๆ นั่นเอง
วงจรของเส้นผม
วงจรของเส้นผม หรือ Hair Growth Cycle แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

ระยะเจริญเติบโต (Anagen)
เป็นระยะที่ต่อมรากผมจะสร้างเซลล์เส้นผมขึ้นและงอกยาวออกมาเป็นเส้นผม โดยจะใช้เวลา 3-7 ปี ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของแต่ละคน ถ้าใครยิ่งมีช่วงนี้นานเท่าไหร่ ก็จะส่งผลให้มีผมที่งอกออกมาได้ยาวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งกว่า 80-90% ของเส้นผมของเราอยู่ในระยะนี้
ระยะหยุดเจริญเติบโต (Catagen)
ถือเป็นระยะที่สั้นที่สุดหรือเรียกว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านช่วงก็ว่าได้ เพราะเมื่อสิ้นสุดช่วงเจริญเติบโตต่อมรากผมจะหดตัว และทำให้ปลายรากผมเลื่อนตัวเข้าสู่ชั้นผิวหนัง โดยในช่วงนี้จะใช้เวลาราว 2-3 สัปดาห์ และในระยะนี้มีเพียง 1% ของเส้นผมทั้งหมดเท่านั้น
ระยะพัก (Telogen)
ช่วงระยะสุดท้ายของเส้นผมเป็นระยะที่ต่อมรากผมจะพักฟื้นฟูตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตเซลล์รากผมชุดใหม่ช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อรอให้เซลล์รากผมชุดใหม่เจริญเติบโตขึ้นมาดันเส้นผมชุดเก่าให้ร่วงออกไป ซึ่ง 10% ของเส้นผมของเราจะอยู่ในระยะนี้
อ่านเพิ่มเติม : ทำความรู้จักกับวงจรเส้นผม (Hair Growth Cycle)
ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม
ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม เป็นปัจจัยทั้งภายนอกและภายในที่ไม่ได้ส่งผลกระทบให้เส้นผมเจริญเติบโตช้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ด้วย
1.) อาหาร – การขาดสารอาหารก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เส้นผมมีการเจริญเติบโตที่ช้าลงได้ โดยเฉพาะโปรตีน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นผม รวมไปถึงสารอาหารจำพวกวิตามินบีรวม ที่พบได้มากในยีสต์ โยเกิร์ต เป็นต้น
2.) ฮอร์โมน – การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผมเช่นกัน โดยฮอร์โมนไทรอยด์จะกระตุ้นให้เกิดการหงอกของเส้นผมหรือภาวะผมร่วงหลังคลอดก็ทำให้เกิดผมร่วงมากผิดปกติได้เช่นกัน
3.) กรรมพันธุ์ – กรรมพันธุ์ส่งผลต่อเส้นผม ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัวที่มีผมบาง ผมเส้นเล็ก ไปจนถึงชาติพันธุ์ในแต่ละเชื้อชาติ ก็ส่งผลต่อสภาพเส้นผมของคนในแถบนั้นๆ ให้แตกต่างกันออกไป
4.) สภาพอากาศ – แม้ว่าสภาพอากาศจะไม่ส่งผลต่อการงอกของเส้นผม แต่ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาเส้นผมได้ เช่น หากถูกแสงแดดแรงๆ เป็นเวลานาน ก็จะทำให้เส้นผมแห้งเสีย แตกปลายได้
5.) สารเคมี – สารเคมีมักก่อให้เกิดการระคายเคืองที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ นอกจากนี้ สารเคมีบางอย่างที่มีสารลดแรงตึงผิวก็ทำให้เส้นผมหยาบกระด้างและชี้ฟูอีกด้วย
ปัญหาเส้นผมที่พบบ่อย
ผมแห้งเสีย ชี้ฟู
สาเหตุของผมแห้งเสีย ชี้ฟู เกิดได้เส้นผมสูญเสียความชุ่มชื้น เช่น การสระผมด้วยน้ำอุ่น การโดนแสงแดดจัดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน รวมไปถึงการจัดแต่งทรงผมด้วยความร้อนก็ได้เช่นกัน
ผมอ่อนแอ เปราะบาง ขาดง่าย
เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบเจอได้บ่อย มักมาจากอายุที่มากขึ้น หรือการสูญเสียโปรตีนอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นผม
ผมร่วง ผมบาง
ปัจจัยของปัญหาผมร่วง ผมบาง เกิดได้ทั้งจากสุขภาพภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัว ภาวะเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การทานสารอาหารไม่ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายหรือจะเป็นปัจจัยภายนอก อย่างฝุ่น ควัน ไปจนถึงมลภาวะต่างๆ เป็นต้น
อ่านเพิ่มเติม : ผมร่วงผมบางเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลรักษา
ผมร่วงจากกรรมพันธุ์
ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ (Androgenetic Alopecia) คืออาการผมร่วงที่เกิดจากเหตุผลทางกรรมพันธุ์ หากใครที่มีกรรมพันธุ์ผมร่วงนี้ ในช่วงแรกผมจะเส้นเล็กลง ร่วงง่ายขึ้น และผมที่งอกขึ้นมาใหม่จะอ่อนแอไม่แข็งแรงเท่าเดิม เมื่อผมร่วงมากขึ้น ต่อมาก็จะเริ่มบางจนเห็นหนังศีรษะ และบริเวณดังกล่าวจะขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาศีรษะล้านได้ในที่สุด โดยอาการผมร่วงจากกรรมพันธุ์นี้ มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) หรือฮอร์โมน DHT เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากฮอร์โมนเพศที่เรียกว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เข้าไปจับกับตัวรับแอนโดรเจน (Androgen receptor) ที่รากผม ส่งผลทำให้ผมที่ผลิตออกมามีเส้นเล็กลง และมีระยะเจริญเติบโตของผมสั้นลงนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม : วิธีเอาชนะผมร่วงผมบางจากกรรมพันธุ์
ผมร่วงจากโรคต่างๆ
โรคบางชนิดก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาผมร่วงผมบางได้เช่นกัน อาทิ โรคไทรอยด์ โรคไต โรคดึงผมตัวเอง โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือโรคทางผิวหนังบางอย่าง เช่น การติดเชื้อที่หนังศีรษะ เซ็บเดิร์ม เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเรารู้ว่าสาเหตุของผมร่วงเกิดจากโรคเหล่านี้ และทำการรักษาให้หายจากโรคแล้ว อาการผมร่วง ผมบางก็จะกลับมาดีขึ้นได้เองตามลำดับ ทั้งนี้ก็เป็นไปได้เช่นกันว่าการรักษาด้วยยาบางชนิด ก็อาจทำให้อาการผมร่วงผมบางหนักขึ้นได้ เช่น การรักษาภาวะซึมเศร้า การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี ฯลฯ แต่อาการเหล่านี้เป็นเพียงอาการชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลไปแต่อย่างใด
อ่านเพิ่มเติม : โรคผมร่วงเป็นหย่อมเกิดจากอะไร รักษาอย่างไร
ผมเสียจากพฤติกรรม
พฤติกรรมบางอย่างก็ส่งผลทำให้ผมเสียได้เช่นกัน โดยส่วนมากมักมาจากการจัดแต่งทรงผมด้วยความร้อน เช่น การยืดผม ดัดผม หรือการไดร์ผมให้แห้งด้วยลมร้อนเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีเรื่องของสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างการยืดผมถาวร การย้อมสีผม การทำทรีตเมนต์ต่างๆ ติดต่อกันโดยไม่ได้มีการพักผม เพื่อให้เส้นผมได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง นอกจากนี้การมัดผม รวบผมแน่นๆ ตลอดทั้งวัน ก็สามารถทำให้เส้นผมอ่อนแอและหลุดร่วงได้ด้วย ทางที่ดีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย ก็สามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดกับเส้นผมของเราได้มากกว่าที่คิด จึงไม่ควรละเลยที่จะดูแลเส้นผมนับตั้งแต่วันนี้
อ่านเพิ่มเติม : เผย 10 เคล็ดลับบำรุงผมเสียให้กลายเป็นผมสวย
วิธีดูแลเส้นผมให้แข็งแรงสุขภาพดี
การดูแลเส้นผมให้สุขภาพดีและแข็งแรงอยู่เสมอนั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น
ทานอาหารให้พอดีต่อความต้องการของร่างกาย
การทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ต้องรอให้ผมเสียก่อนก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะการทานอาหารจำพวกโปรตีนให้เพียงพอในแต่ละวัน เพราะโปรตีนคือส่วนประกอบสำคัญในเส้นผม ที่ถ้าหากขาดไป ก็จะทำให้ผมเปราะบางและแตกปลายได้ง่าย
อ่านเพิ่มเติม : 10 อาหารบำรุงผมให้แข็งแรงสุขภาพดี
พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็เป็นอีกทางที่ช่วยให้เส้นผมของเราสุขภาพดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก นั่นเป็นเพราะการนอนหลับคือพื้นฐานของสุขภาพที่ดี หากเรานอนไม่เพียงพอก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เมื่อร่างกายอ่อนแอลงแล้ว เส้นผมก็ยากที่จะคงสภาพไว้ไม่ให้อ่อนแอตามนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม : คนชอบนอนดึกเสี่ยงผมร่วงจริงหรือ
สระผมให้ถูกวิธี
วิธีสระผมที่ถูกต้องนั้นสำคัญกว่าที่คิดเพราะหากเราสระผมไม่ถูกวิธี นอกจากจะทำให้ผมไม่สะอาดแล้ว ยังทำให้ผมยิ่งร่วงหนักมากขึ้นกว่าเดิมได้อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม : How to วิธีสระผมแบบคนญี่ปุ่นสยบผมร่วง
บำรุงด้วยทรีตเมนต์บ้าง
หากร่างกายต้องการสารอาหาร เส้นผมก็ต้องการสารอาหารเช่นกันการทำทรีตเมนต์เพื่อเติมสารอาหารเข้าเส้นผมโดยตรง จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นไม่น้อยไปกว่าวิธีอื่นๆ เลย
ลดการใช้ความร้อนและสารเคมี
ไม่มีกฎข้อห้ามสำหรับการใช้ความร้อนและสารเคมีในการจัดแต่งทรงผมแต่ถ้าหากลดความถี่ในการทำลงบ้าง และพักให้เส้นผมได้มีช่วงเวลาฟื้นฟูตัวเองสักหน่อย ก็ทำให้สุขภาพผมที่เคยเสียกลับมาดีขึ้นได้แน่นอน
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจทำร้ายเส้นผม
เช่นการมัดผมหรือทำผมที่ต้องมีการดึงรั้งเส้นผมนานๆ การทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การเข้านอนไม่ครบเวลาที่ร่างกายต้องการ ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนทำให้เส้นผมสุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ หากเราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ดีทีละนิด ก็จะลดภาระที่เกิดกับเส้นผมไปได้เยอะทีเดียว
สรุป
เส้นผม มีความสำคัญกับคนเรามาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการปกป้องศีรษะของเราจากแสงแดด การป้องกันการสูญเสียความร้อนในร่างกาย ไปจนถึงการเสริมสร้างความมั่นใจและบุคลิกภาพให้เราได้ การทำความรู้จัก ทำความเข้าใจถึงวงจรและโครงสร้างของเส้นผม จึงเป็นสิ่งที่ควรรู้เอาไว้ เพื่อไม่ให้เผลอทำสิ่งที่เป็นการทำร้ายเส้นผมโดยไม่รู้ตัว แต่ถึงอย่างนั้นแล้วหากเราเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผมร่วง ผมบางตามกรรมพันธุ์จนขาดความมั่นใจไป การรักษาด้วยวิธีการปลูกผมก็เป็นทางเลือกที่ดีที่จะเรียกความมั่นใจของเราให้กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นการปลูกผมโดยคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานที่เน้นความเป็นธรรมชาติอย่างที่ Hairsmith clinic ก็ยิ่งมั่นใจได้เลยว่าผลลัพธ์ที่ได้ จะสร้างความประทับใจให้คนไข้อย่างแน่นอน