ผู้ชายหัวล้านเสี่ยงติดโควิด-19 จริงหรือ
จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ประเด็นที่เป็นที่กล่าวถึงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไปทั่วโลกคงหนีไม่พ้นโรค COVID-19 ซึ่งไม่มีทีท่าจะจากโลกนี้ไปง่ายๆ ทั่วโลกต่างหาทางแก้ปัญหาทั้งในด้านการรักษาและผลิตวัคซีนเพื่อป้องกันโรค ข่าวดีก็คือเริ่มมีวัคซีนที่สามารถลดความรุนแรงและป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้แล้ว และยังคงมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพอยู่อย่างต่อเนื่อง สิ่งที่เราในฐานะประชาชนและผู้บริโภคได้เรียนรู้กันก็คือการป้องกันตัวและปรับวิถีชีวิตให้เข้ากับสถานการณ์
ถ้าพูดถึงโรค COVID-19 เราก็คงจะนึกถึงในแง่ที่ว่าเจ้าโรคนี้ส่งผลในด้านสุขภาพของผู้คนใช่ไหมคะ แต่วันนี้หมอมีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ COVID-19 ที่ในปี 2020 นักวิทยาศาตร์และแพทย์ได้ตั้งข้อสังเกตในแง่ความเกี่ยวข้องกับศีรษะล้านมาเล่าให้ฟังค่ะ อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายๆ คนคงมีความสงสัยเกิดขึ้นในใจว่ามันเกี่ยวกันยังไง ถ้าอยากรู้มาอ่านต่อได้เลยค่ะ
หมอขอเริ่มจากการอธิบายเบื้องต้นก่อนว่าภาวะศีรษะล้านจากกรรมพันธุ์นั้นเกิดจากการที่ฮอร์โมน Dihydrotestosterone หรือเรียกสั้นๆ ว่าฮอร์โมน DHT ไปจับกับตัวรับแอนโดรเจน หรือ Androgen receptor ที่บริเวณรากผม ส่งผลให้ผมบาง ร่วง และเข้าสู่ภาวะศีรษะล้านในที่สุด โดยปัจจัยที่ทำให้ภาวะศีรษะล้านมีความเกี่ยวข้องกับโรค COVID-19 ก็คือเจ้า Androgen receptor นี่ล่ะค่ะ เพราะมันไม่ได้รับแค่ฮอร์โมน DHT เท่านั้น แต่กลับมีส่วนร่วมในการผลิตเอนไซม์ต่างๆ ที่ทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายและแพร่กระจายในร่างกายอีกด้วย (Wambier and Goren, 2020)
ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีการเก็บข้อมูลทางสถิติเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างภาวะศีรษะล้านในระดับต่างๆ กับโอกาสในการติดเชื้อไวรัส COVID โดยแบ่งคนออกเป็น 4 กลุ่ม จำแนกตามระดับความรุนแรงของภาวะผมบางหรือศีรษะล้าน ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้นก็ทำให้พบว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วคนที่ไม่มีปัญหาผมบางหรือศีรษะล้านจะมีเปอร์เซ็นต์ในการติดเชื้อน้อยกว่าคนที่มีปัญหาผมบางหรือศีรษะล้านในระดับรุนแรง (โดยข้อมูลนี้เป็นการเปรียบเทียบกับประชากรในกลุ่มเท่านั้น) (Lee et al., 2020)
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คนที่ไม่มีปัญหาผมบางหรือหัวล้านอย่าเพิ่งดีใจถอดแมสก์ออกนะคะ ทุกคนยังคงมีโอกาสในการติดเชื้อ COVID และยังต้องดูแลตัวเองอย่างระมัดระวังเช่นเดิมค่ะ ส่วนในคนที่มีภาวะผมบางหรือศีรษะล้านก็คงมีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้นยา Finasteride ที่ทานเพื่อรักษาภาวะผมร่วง ผมบางจะช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อได้ไหม คำตอบก็คือไม่ได้ค่ะ เพราะ Finasteride ทำหน้าที่ลด DHT เท่านั้น ส่วนเจ้า receptor ที่เป็นตัวการก็ยังทำงานของมันเหมือนเดิมก็เลยช่วยป้องกัน COVID ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะมีภาวะผมร่วง ผมบาง หรือศีรษะล้านในระดับไหนก็ยังไม่ต้องวิตกกังวลไปนะคะ ข้อมูลที่นำเสนอในบทความนี้เป็นเพียงการสังเกตเบื้องต้น ยังไม่มีหลักฐานหรืองานวิจัยที่แน่ชัดมายืนยันถึงความเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ หมอขอฝากความห่วงใยไปถึงทุกคนว่าทางที่ดีเราควรดูแลสุขภาพร่างกายตนเองให้แข็งแรงและป้องกันตัวเองให้ดีที่สุดค่ะ