โรคผมร่วงแบบ Frontal Fibrosing Alopecia หรือที่เรียกกันว่า FFA เป็นภาวะผมร่วงชนิดมีแผลเป็น ส่วนใหญ่มีผมร่วงเป็นแถบ เกิดขึ้นเฉพาะจุดที่บริเวณหน้าผากและขมับค่ะ โรคนี้ทำให้เส้นผมบางลงและถอยร่นจนสังเกตได้ นอกจากจะกระทบต่อความมั่นใจแล้ว คนไข้ยังต้องการการดูแลที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการลุกลามขยายเป็นวงกว้างค่ะ ในบทความนี้หมอจะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้ ทั้งสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาที่ได้ผลค่ะ
Frontal Fibrosing Alopecia คืออะไร
โรคผมร่วงแบบฟรอนทอล ไฟบรอสซิง (Frontal Fibrosing Alopecia : FFA) เป็นโรคผิวหนังอักเสบที่หนังศีรษะ ส่งผลให้รากผมถูกทำลายทำให้ไม่สามารถงอกเส้นผมขึ้นมาใหม่ได้ค่ะ ลักษณะเด่นของโรคนี้คือ การสูญเสียเส้นผมถาวรบริเวณขอบผมด้านหน้าและแนวขมับ ทำให้แนวผมร่นและบางลงอย่างเห็นได้ชัด
โรคนี้พบบ่อยในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน เกี่ยวข้องกับภาวะฮอร์โมนเพศหญิงลดลง และสามารถเกิดในผู้ชายและวัยอื่น ๆ ได้เหมือนกันค่ะ แต่โอกาสเกิดค่อนข้างน้อย หากสังเกตเห็นแนวผมถอยร่น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลานะคะ
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคหนังศีรษะอักเสบ สาเหตุ และการรักษา
สาเหตุของโรค Frontal Fibrosing Alopecia
ปัจจุบันโรคผมร่วงแบบ Frontal Fibrosing Alopecia (FFA) ยังหาสาเหตุได้ไม่แน่ชัด 100% ค่ะ แต่มีหลายทฤษฎีที่อธิบายถึงปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคได้ เช่น
- ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ
เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโจมตีรูขุมขนเองจนเกิดการอักเสบ ทำให้เซลล์รูขุมขนถูกทำลายและไม่สามารถงอกเส้นผมใหม่ได้ค่ะ ทฤษฎีนี้สอดคล้องกับลักษณะของโรคที่จัดอยู่ในกลุ่ม โรคผมร่วงแบบมีแผลเป็น (Scarring Alopecia) ซึ่งมักมีการอักเสบที่ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร
- การเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน
โรคผมร่วง FFA พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยใกล้หมดประจำเดือนค่ะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ที่ลดลงในช่วงวัยนี้ ส่งผลต่อการทำงานของรูขุมขน ทำให้เกิดการอักเสบและการร่วงของเส้นผม นอกจากนี้ยังพบว่าฮอร์โมนเพศชายบางชนิด เช่น แอนโดรเจน (Androgen) อาจมีการกระตุ้นการอักเสบในรูขุมขนได้ด้วยเหมือนกันค่ะ
- ปัจจัยทางพันธุกรรม
พันธุกรรมก็มีส่วนสำคัญในโรคนี้เหมือนกันค่ะ หากมีคนในครอบครัวที่เคยเป็นโรค FFA หรือโรคผมร่วงชนิดอื่น โอกาสที่จะเกิดโรคนี้กับสมาชิกในครอบครัวก็มีเพิ่มขึ้น เป็นการบอกได้ว่าโรคนี้อาจมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ยังต้องมีการศึกษาและวิจัยเพิ่มเติมเพื่อระบุว่ายีนตัวไหนที่เกี่ยวข้อง
ถึงแม้ว่า โรคผมร่วงแบบ Frontal Fibrosing Alopecia จะยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่การเข้าใจปัจจัยต่างๆ จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยและทำการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
อาการและลักษณะทางคลินิกของโรค
โรคผมร่วงแบบ Frontal Fibrosing Alopecia (FFA) มีอาการที่สังเกตได้ชัดค่ะ โดยเฉพาะการสูญเสียเส้นผมบริเวณขอบผมด้านหน้าและขมับ มักเริ่มต้นจากแนวผมที่ค่อยๆ ถอยร่นและบางลงอย่างต่อเนื่อง อาการนี้อาจแย่ไปจนทำให้แนวผมร่นขึ้นอย่างถาวร ทำให้ศีรษะล้าน เกิดเป็นพื้นที่ว่างชัดเจน นอกจากการสูญเสียเส้นผมบริเวณหน้าผากและขมับแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ที่สามารถพบร่วมด้วยค่ะ เช่น
- ขนคิ้วอาจบางลงหรือหลุดร่วงทั้งหมดค่ะ
- บริเวณที่เส้นผมหายไปจะมีผิวหนังที่เรียบตึงและมันวาวจากการสูญเสียรูขุมขน
- ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคันหรือรู้สึกแสบร้อนบริเวณหนังศีรษะที่ผมร่วงได้ ซึ่งเป็นผลจากการอักเสบของรูขุมขน
อาการเหล่านี้สามารถลุกลามได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมในระยะเริ่มต้นค่ะ ดังนั้น หากสังเกตเห็นสัญญาณเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็ว
การตรวจวินิจฉัยโรคผมร่วงแบบ FFA
การวินิจฉัยโรคผมร่วงแบบ FFA ต้องอาศัยการตรวจที่ละเอียดและเฉพาะทางโดยแพทย์ผิวหนังค่ะ เนื่องจากเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบของรูขุมขน การวินิจฉัยที่ถูกต้องจึงสำคัญต่อการวางแผนรักษาที่เหมาะสมที่สุด โดยวิธีการตรวจวินิจฉัยมีดังนี้
- การตรวจทางคลินิก
แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการตรวจร่างกายและสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วยก่อนค่ะ เช่น อาการที่พบ ระยะเวลาที่เริ่มผมร่วง และประวัติการเจ็บป่วยหรือการใช้ยา เพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโรคผมร่วงแบบ FFA หรือไม่
- การตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์
แพทย์ผิวหนังจะใช้กล้องขยายเพื่อส่องดูหนังศีรษะอย่างละเอียด วิธีนี้จะช่วยให้เห็นรูขุมขนที่เกิดการอักเสบหรือเส้นผมที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น รูขุมขนที่ถูกทำลาย เส้นผมบาง หรือการเปลี่ยนแปลงที่แนวผม
- การตัดชิ้นเนื้อ
ในกรณีที่ต้องการยืนยันผลการวินิจฉัย แพทย์อาจตัดชิ้นเนื้อจากหนังศีรษะเพื่อนำไปตรวจทางพยาธิวิทยาค่ะ การตรวจนี้จะสามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีการอักเสบในรูขุมขนหรือเซลล์รูขุมขนถูกทำลาย ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของโรค FFA
- การตรวจเลือด
แพทย์อาจตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อประเมินความผิดปกติของฮอร์โมนหรือระบบภูมิคุ้มกัน เช่น ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์หรือภูมิคุ้มกันในร่างกาย เพื่อค้นหาปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดโรค
การรักษา Frontal Fibrosing Alopecia
ปัจจุบันโรคผมร่วงแบบ Frontal Fibrosing Alopecia (FFA) จะยังไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้หายขาดนะคะ แต่สามารถบรรเทาอาการและชะลอการลุกลามได้ค่ะ ซึ่งการรักษาก็จะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการและความเหมาะสมของผู้ป่วย โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
การรักษาด้วยยา
เน้นลดการอักเสบ ควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผม เพื่อชะลอการลุกลามของโรคค่ะ
- การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ แบบทาหรือฉีดเฉพาะที่ เพื่อลดการอักเสบของรูขุมขน
- ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น Methotrexate หรือ Hydroxychloroquine ช่วยลดการทำงานเกินของระบบภูมิคุ้มกัน
- ใช้ยาต้านแอนโดรเจน เช่น Spironolactone เพื่อปรับสมดุลฮอร์โมน
การรักษาเสริมควบคู่ไปกับการใช้ยา
นอกจากการใช้ยา การรักษาเสริมอย่างการฉีดพลาสม่าที่มีเกล็ดเลือดเข้มข้น (Platelet-Rich Plasma; PRP) หรือการใช้เลเซอร์พลังงานต่ำก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูรูขุมขนและชะลอการลุกลามของโรคได้ค่ะ
- ฉีด PRP (Platelet-Rich Plasma) จะช่วยกระตุ้นการฟื้นฟูรูขุมขนด้วยพลาสม่าที่มีเกล็ดเลือดเข้มข้น
- ใช้เลเซอร์พลังงานต่ำ (Low-level laser therapy; LLLT) ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิตบนหนังศีรษะ
- ปลูกผม เหมาะสำหรับผู้ที่สูญเสียเส้นผมรุนแรง แต่ต้องเป็นคนที่โรคไม่กำเริบ สามารถควบคุมโรคไม่ให้ลุกลามเพิ่มขึ้นมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว
ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ปลูกผมคืออะไร เลือกวิธีปลูกผมให้เหมาะสมกับปัญหา
การรักษาโรคผมร่วงแบบ FFA เน้นไปที่การลดการอักเสบ ชะลอการลุกลาม และฟื้นฟูเส้นผมที่เหลืออยู่ค่ะ มักต้องใช้การรักษาร่วมกันหลายวิธี แม้จะยังไม่มีวิธีรักษาที่ทำให้หายขาด แต่ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ผู้ป่วยสามารถรับการรักษาที่ช่วยชะลออาการและฟื้นฟูความมั่นใจได้ค่ะ
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นโรคผมร่วงแบบ FFA
การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมสามารถช่วยชะลอการลุกลามของโรคและเสริมสร้างความมั่นใจให้ผู้ป่วยได้ค่ะ ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ดังนี้นะคะ
- หลีกเลี่ยงแชมพูที่มีสารเคมีรุนแรง เช่น ซัลเฟต เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สูตรอ่อนโยน และปกป้องหนังศีรษะจากแสงแดดด้วยหมวกหรือครีมกันแดดสำหรับหนังศีรษะ
- รับประทานอาหารที่มีโปรตีน ธาตุเหล็ก และวิตามิน เช่น เนื้อปลา ผักใบเขียว และธัญพืช เพื่อเสริมสุขภาพผมและหนังศีรษะ
- ใช้วิกผม หมวกแฟชั่น หรือสเปรย์ปิดผมบางเพื่อเพิ่มความมั่นใจ รวมถึงเลือกทรงผมที่ช่วยปกปิดแนวผมที่บาง
- พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินอาการ และปรึกษาแพทย์หากมีปัญหาผมร่วงเพิ่มขึ้น
การดูแลตัวเองด้วยวิธีที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการทำตามคำแนะนำจากแพทย์ จะช่วยจัดการโรค FFA ได้อย่างมั่นใจค่ะ
โรคผมร่วงแบบ FFA รักษาไม่หายแต่ป้องกันได้
โรคผมร่วงแบบ Frontal Fibrosing Alopecia (FFA) มักมีการดำเนินโรคที่ค่อยเป็นค่อยไป โดยเส้นผมจะบางลงและถอยร่นอย่างช้าๆ ค่ะ แต่ผลกระทบต่อผู้ป่วยอาจรุนแรงในด้านจิตใจและอารมณ์ โดยเฉพาะในเรื่องความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตัวเอง ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกวิตกกังวลหรือเครียดจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาด้านสุขภาพจิตในระยะยาวได้
อย่างไรก็ตาม การวินิจฉัยและรักษาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ มีความสำคัญมากค่ะ การเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางและเริ่มต้นการรักษาเร็วจะช่วยชะลอการลุกลามของโรค ลดการสูญเสียเส้นผมถาวร และป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้
ดังนั้นการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม ควบคู่ไปกับการรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยให้คนไข้รับมือกับโรคได้ดีขึ้น และสามารถรักษาคุณภาพชีวิตที่ดีไว้ได้ค่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก: