ในปัจจุบัน “โรคซึมเศร้า” ไม่ใช่โรคที่ไกลตัวอีกต่อไป เพราะด้วยปัจจัยภายในและภายนอกอย่างสถานการณ์บ้านเมือง เศรษฐกิจ ไปจนถึงเรื่องราวเลวร้ายที่กระทบจิตใจ ก็สามารถส่งผลให้ไม่ว่าใครก็เป็นโรคนี้ได้ วันนี้หมอเลยจะมาเขียนถึงความเชื่อมโยงกันของโรคซึมเศร้าและภาวะ ผมร่วง ว่าทั้ง 2 ปัญหานี้เกี่ยวข้องกันอย่างไร และเราจะก้าวข้ามผ่านทั้ง 2 ภาวะเจ้าปัญหานี้ไปได้อย่างไร มาเริ่มกันเลยค่ะ
โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้า (Depression) คือ ความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมอง ที่ทำให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านของอารมณ์จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยจะมีอาการเศร้าหมอง หดหู่ มองโลกในแง่ร้าย ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไปจนถึงการอยากฆ่าตัวตาย
อาการของโรค – อาการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า มักเป็นอาการที่ปรากฏตามข้อต่างๆ ที่ยกมาและอาจพบการแสดงอาการอื่นๆ เพิ่มเติมได้เช่นกัน
- รู้สึกเบื่อหน่ายจนไม่อยากทำอะไร
- ซึม เศร้า ท้อแท้ สิ้นหวัง
- มีปัญหานอนไม่หลับ หรือนอนหลับมากผิดปกติ
- ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง เหนื่อยง่าย
- รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า มองโลกในแง่ลบ
- ใจลอย ไม่มีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่กำลังทำ
- เฉื่อยชา เชื่องช้า หรืออยู่ไม่สุข กระสับกระส่าย
- คิดทำร้ายตัวเอง ไปจนถึงอยากฆ่าตัวตาย
วิธีสังเกตอาการต่างๆ ของผู้ป่วย จะต้องมีอาการในข้อที่ 1 หรือ 2 อย่างใดอย่างหนึ่ง และมีอาการร่วมในข้อ 3-8 อย่างน้อย 5 อาการ โดยมีการแสดงอาการเกือบตลอดเวลา เกือบทุกวัน ติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า คลิกเลย!
สาเหตุของโรค
ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดในการเกิดโรค แต่จากการคาดการณ์โดยแพทย์ วิเคราะห์ได้ว่าอาจเกิดจากสาเหตุหลักๆ ดังนี้
- กรรมพันธุ์ – หากผู้ป่วยมีญาติพี่น้องใกล้ชิดที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว จะมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่าเลยทีเดียว
- สารเคมีในสมอง – เกิดจากการหลั่งสารเคมีในสมองและสื่อนำประสาททำงานผิดปกติ โดยสารเคมีในสมองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้าได้แก่ อะเซทิลโคลีน (Acetylcholine) ซีโรโทนิน (Serotonin) นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) และโดพามีน (Dopamine)
- ปัจจัยทางจิตสังคม – เช่น การเลี้ยงดู ลักษณะนิสัย สิ่งแวดล้อม การเครียดจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งจากปัจจัยที่กล่าวมา หากเป็นสาเหตุที่กระตุ้นทำให้เกิดอาการซึมเศร้า แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมก็อาจจะนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้
วิธีรักษา
การรักษาโรคซึมเศร้าในปัจจุบันมีทั้งหมดด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่
- การรักษาด้วยยา เพื่อปรับสารเคมีในสมองให้กลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติ
- การรักษาจิตใจ ด้วยการพูดคุยกับจิตแพทย์ จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองมากขึ้น
- การรักษาด้วยไฟฟ้า วิธีนี้จะใช้รักษาเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
สาเหตุผมร่วงที่เกิดจากโรคซึมเศร้า
เมื่อสมองและจิตใจต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้า ร่างกายจึงได้รับผลกระทบไปด้วย นั่นก็เพราะว่าเมื่อเกิดอาการ ผู้ป่วยมักมีพฤติกรรมที่ส่งผลต่อเส้นผมได้ ไม่ว่าจะเป็นการนอนไม่หลับ ส่งผลให้ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ ความวิตกกังวล ความเครียด ที่ล้วนแล้วแต่ทำให้ภาวะผมร่วงตามมาได้ทั้งนั้น นอกจากนี้การรักษาด้วยยารักษาโรคซึมเศร้าและยาคลายเครียดบางชนิด ยังทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ทำให้ผมร่วงได้ด้วย เช่น Anafranil, Pamelor และ Sinequan เป็นต้น ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยคนไหนที่กำลังทำการรักษาด้วยยาแล้วเกิดการผมร่วงนั้น ไม่ต้องตกใจไปนะคะ ให้ติดต่อแพทย์เจ้าของไข้ เพื่อปรึกษาหาแนวทางการแก้ปัญหาได้เลย
โรคซึมเศร้าที่เกิดมาจากผมร่วง
แม้ว่าการที่ผมร่วงจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองหรือทำให้เราเจ็บตัว แต่ในคนไข้บางราย การสูญเสียเส้นผมจากผมร่วงนั้น ทำร้ายจิตใจและความมั่นใจได้แบบไม่เหลือชิ้นดีจนเกิดเป็นโรคซึมเศร้าตามมา อาการขาดความมั่นใจอย่างรุนแรงนี้ สอดคล้องกับสาเหตุการเกิดโรคอย่างปัจจัยทางจิตสังคมโดยตรง ซึ่งสามารถรักษาได้ด้วยการพบจิตแพทย์เพื่อสร้างความเข้าใจตนเอง และแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ อย่างการรักษาผมร่วงผมบางด้วยการกินยา ทายา หรือปลูกผมค่ะ
สรุป
โรคซึมเศร้า (Depression) คือ ความผิดปกติของการหลั่งสารเคมีในสมองที่ทำให้ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงในด้านของอารมณ์จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยจะมีอาการซึม เศร้า เบื่อหน่ายไม่อยากทำอะไร มองโลกในแง่ลบ ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง ไปจนถึงทำร้ายตัวเองและคิดฆ่าตัวตาย สาเหตุของโรคยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าเกิดจากอะไร แต่คาดเดาว่าน่าจะเกิดจากปัจจัยทั้ง 3 อย่างได้แก่ กรรมพันธุ์ สารเคมีในสมองทำงานผิดปกติ และปัจจัยทางจิตสังคม วิธีการรักษาสามารถรักษาได้ด้วยการกินยาปรับสารเคมีในสมอง การพบจิตแพทย์และการรักษาด้วยไฟฟ้าในรายที่มีอาการหนัก
โรคซึมเศร้าส่งผลกับภาวะผมร่วงเกี่ยวเนื่องมาจากอาการของโรค ที่มักแสดงอาการที่ทำให้พฤติกรรมของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปจนกระทบกับการใช้ชีวิตปกติ เช่น นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป ความวิตกกังวล ความเครียด การกินอาหารที่น้อยกว่าปกติ ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้ผมร่วงได้ทั้งสิ้น
อีกทั้งการรักษาด้วยการกินยาต้านซึมเศร้าบางตัว ยังเกิดผลข้างเคียงที่ทำให้ผมร่วงได้เช่นกัน ในขณะเดียวกันนั้น ภาวะผมร่วงผมบางที่หลายคนกำลังเป็น ก็สามารถไปลดทอนความมั่นใจของเจ้าตัวได้ เกิดเป็นปัจจัยทางจิตสังคมที่กระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้นั่นเอง