รากผม (Hair root) เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเส้นผม เพราะเป็นส่วนต้นของเส้นผมที่อยู่ภายในรูขุมขนบนศีรษะ และคอยทำหน้าที่สร้างเส้นผมให้เกิดขึ้นบนศีรษะ แต่หลายคนมองว่ารากผมเป็นสิ่งที่อยู่ลงไปใต้ชั้นผิวหนังจนละเลยการให้ความสำคัญในการดูแลรักษา เพราะมองว่าเป็นจุดที่มองเห็นได้ยากกว่าเส้นผม ท้ายที่สุดเมื่อเกิดปัญหาผมขาด หลุดร่วงง่าย หรือมีภาวะผมบางเกิดขึ้น เมื่อได้รับการวินิจฉัยก็พบว่าต้นตอที่เกิดขึ้นมาจาก “รากผมไม่แข็งแรง”
รากผม คืออะไร?
ก่อนที่จะไปดูกันว่าปัญหารากผมฝ่อ หรือปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการทำให้รากผมไม่แข็งแรง หมออยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับรากผมกันก่อนค่ะ ซึ่งแน่นอนว่ารากผมนั่นคือส่วนที่อยู่ลึกลงไปใต้ชั้นผิวหนังแต่ความสำคัญนั้นมีไม่น้อยเลยค่ะ เพราะรากของเส้นผมบางเส้นนั้นอยู่ลึกลงไปถึงเนื้อเยื่อใต้หนัง และคอยดูดซับสารอาหารจากร่างกาย รวมถึงสร้างความแข็งแรงให้กับเส้นผมด้วย หรือให้เปรียบเทียบกับต้นไม้ที่มีรากแข็งแรงต้นไม่ก็สวย ออกดอกผล และแข็งแรง เส้นผมก็เช่นเดียวกันค่ะ
โครงสร้างและส่วนประกอบของรากผม
สำหรับโครงสร้างของรากผมนั้นจะเริ่มต้นจากส่วนล่างสุดคือ ปุ่มผม (Hair demal papilla) เป็นส่วนที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม เพราะมีเส้นเลือด และเส้นประสาทหล่อเลี้ยง ทำให้รากผมเกิดการแบ่งตัวและมีเซลล์ผมใหม่เกิดขึ้น ขยับขึ้นมาเป็น กระเปาะผม (Hair bilb) มีลักษณะกลมเกิดขึ้นเซลล์ผมถูกสร้างขึ้นจากนั้นจะงอกกลายเป็นเส้นผม และภายในเส้นผมที่งอกขึ้นมานั้นยังมีต่อมรากผม (Hair follicle) มีลักษณะแบบทรงกระบอกคอยหุ้มรากผม เป็นตัวที่นำเส้นประสาท เส้นเลือดและท่อน้ำเหลืองมาหล่อเลี้ยงเซลล์รากผมค่ะ
ดังนั้นแล้วทุก ๆ ส่วนประกอบของเส้นผมที่ล้วนมีผลมาจากรากผม ซึ่งคอยทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหารมาหล่อเลี้ยงเซลล์ส่วนต่าง ๆ ภายในเส้นผมจนทำให้ผมแข็งแรง หากเซลล์เกิดความอ่อนแอ รากผมมีปัญหา หรือปัจจัยของอายุที่เพิ่มมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือการหลุดร่วงของเส้นผม และผมแห้งเสียขาดง่ายนั่นเองค่ะ
ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในรากผม
สำหรับปัญหาพบบ่อยที่เกิดขึ้นกับรากผมจนนำไปสู่ปัญหาเส้นผม และผมบางตามมานั้นมีอยู่ 3 ปัจจัยด้วยกัน ตามรายละเอียดดังต่อไปนี้
1. รากผมไม่แข็งแรง
ปัญหาแรกที่พบได้บ่อยสำหรับคนที่มีผมบาง ผมร่วงง่าย คือมีจุดเริ่มต้นมาจากรากผมไม่แข็งแรง และเมื่อรากไม่แข็งแรงเส้นผมก็อ่อนแอกลายเป็นปัญหาเส้นผมซึ่งรุนแรงที่สุดคือผมร่วงเป็นจำนวนมาก และเปลี่ยนจากคนผมหนากลายเป็นคนผมบางได้เลยค่ะ สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้รากผมอ่อนแอ คือ
- การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีน วิตามินบี ธาตุเหล็ก และสังกะสี
- ขาดการดูแลรักษาความสะอาด เส้นผมและรากผมก็จำเป็นต้องได้รับการดูแล ทั้งความสะอาด และการเติมสารอาหารจำเป็นผ่านการสระผม หรือใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมด้วย
- พฤติกรรมบางอย่าง เช่น การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีอยู่เป็นประจำ
- สัมผัสกับมลภาวะ และความร้อนจากแสงแดดอยู่เป็นประจำ
2. รากผมฝ่อ
รากผมฝ่อเป็นอีกหนึ่งปัญหาพบบ่อยที่เกิดขึ้นกับรากผม และสามารถเกิดขึ้นกับทุกคน โดยรากผมที่ฝ่อจะทำให้รากผมลีบเล็กลงกว่าเดิม ทำให้วงจรการเติบโตของเส้นผมเปลี่ยนไป ผมจะมีระยะการเจริญเติบโตที่สั้นลง อีกทั้งรากผมยังไม่สามารถดูดซึมสารอาหารมาหล่อเลี้ยงเส้นผมให้แข็งแรงได้อย่างที่ควรจะเป็นด้วยนะคะ ผมจะมีขนาดเล็กและสั้นลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งก็จะนำไปสู่ภาวะผมบางและศีรษะล้าน สำหรับสาเหตุของรากผมฝ่อ คือ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมน DHT หากมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จะทำให้รากผมหดตัวและระยะเจริญเติบโตที่สั้นลง
- อายุที่เพิ่มมากขึ้นมีผลให้รากผมอ่อนแอลง เนื่องจากเซลล์มีความเสื่อมรวมถึงฮอร์โมนบางชนิดที่ลดลง ทำให้เส้นผมไม่เจริญเติบโต
- ในครอบครัวที่มีคนผมบางอาจส่งผลในเรื่องของรากผมฝ่อได้ เพราะส่งผลถึงพันธุกรรมให้กับคนในครอบครัวโดยตรง
- โรคบางชนิด เช่น โรคผิวหนัง โรคภูมิแพ้ตัวเอง และโรคไทรอยด์ มีผลต่อสุขภาพรากผมได้
- สารเคมีที่รุนแรง จากการดัดผม ยาย้อมผม หรือในคนที่ยืดผมเป็นประจำ
3. รากผมอักเสบ
อาการอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกาย รากผมก็เช่นกันค่ะเมื่อมีการอักเสบเกิดขึ้นกับรากผมเส้นผมจะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยสาเหตุหลักของการเกิดการอักเสบของรากผมมาจาก การระคายเคือง การบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น การเกา โกน หรือถอนผม รวมถึงการติดเชื้อโรคอย่าง เชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหารากผมอักเสบไม่เพียงแค่ทำให้ผมร่วงเท่านั้น แต่ยังมีอาการอื่นร่วมด้วย คือ
- มีตุ่มหนองตามรูขุมขนบริเวณที่เกิดการอักเสบ
- มีอาการเจ็บและคันบริเวณที่มีตุ่ม
- อาจมีรอยแดงเกิดขึ้นตามหนังศีรษะ
วิธีดูแลและบำรุงรากผมให้แข็งแรง
เนื่องจากปัจจัยที่ทำให้รากผมอ่อนแอนั้นมีหลายสาเหตุ ดังนั้นการดูแลและบำรุงรากผมให้มีความแข็งแรงก็ต้องมาจากหลายปัจจัยร่วมกันค่ะ โดยทางแพทย์จะแนะนำ 3 วิธี คือ
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อดูแลเส้นผม
การดูแลเส้นผมด้วยตัวเองเป็นวิธีที่ทำได้ง่ายและสามารถทำได้ด้วยตัวเอง โดยสามารถทำได้ด้วย 5 วิธีต่อไปนี้
- สระผมอย่างถูกวิธี ไม่เกาขณะสระผมด้วยความรุนแรง แต่ควรนวดเส้นผมอย่างเบามือเพื่อลดการอักเสบและระคายเคือง
- นวดหนังศีรษะ ในระหว่างวันควรใช้นิ้วมือค่อย ๆ นวดที่หนังศีรษะให้ทั่วเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนเลือดให้หล่อเลี้ยงเส้นผมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยดูแลเส้นผมอย่างเหมาะสม เช่น สูตรที่ไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง รวมทั้งเลือกใช้สูตรที่เหมาะกับสภาพเส้นผมหรือหนังศีรษะ
- ลดพฤติกรรมเสี่ยงที่มีผลต่อรากผมโดยตรง เช่น การเป่าผมด้วยความร้อนสูงเป็นประจำ การสูบบุหรี่ การเผชิญแสงแดดและมลภาวะโดยไร้เครื่องป้องกัน
- ปรับเปลี่ยนทัศนคติ หากิจกรรมที่มีความผ่อนคลาย ลดความเครียด เพราะความเครียดมีผลโดยตรงต่อการอักเสบของรากผม
2. ให้ความสำคัญเรื่องโภชนาการ
การเลือกรับประทานอาหารมีผลต่อเส้นผมโดยตรง เพราะอาหารที่ดีก็ช่วยเสริมความแข็งแรงให้รากผม และเซลล์ผม ควรเลือกทานอาหารเพื่อบำรุงรากผม เช่น โปรตีน ธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผักใบเขียว รวมทั้งการดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้ร่างกายและเส้นผม นอกจากนี้การเสริมด้วยวิตามินและแร่ธาตุ เช่น วิตามินบีรวม สังกะสี ธาตุเหล็ก และวิตามินดี ก็เป็นสิ่งที่ช่วยบำรุงเส้นผมและรากผมให้แข็งแรงได้นะคะ ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจทานอาหารเสริมรูปแบบวิตามินแนะนำให้ปรึกษาคุณหมอเพื่อพิจารณาตามความเหมาะสมก่อนนะคะ
3. การรักษาทางการแพทย์
นอกจากการดูแลและบำรุงรากผมที่สามารถทำได้เองแล้ว การเลือกวิธีรักษาทางการแพทย์ก็เป็นอีกวิธีที่สามารถทำได้เช่นกันค่ะ โดยทั่วไปแล้วแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังและเส้นผมโดยตรงดูก่อนว่า ความผิดปกติที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร และปัจจัยหลักที่รากผมมีความอ่อนแอคืออะไร เพื่อการรักษาที่แม่นยำและตรงจุด
นอกจากนี้การรักษาทางการแพทย์ด้วยวิธีการฉีด PRP (Platelet-Rich Plasma) ซึ่งเป็นการฉีดเกล็ดเลือดที่เข้มข้นของตัวเองเข้าไปเพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตให้กับรากผม ทำให้เกิดการสร้างเซลล์และมีการไหลเวียนเลือดบริเวณรากผมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ
โรคที่มีความเกี่ยวข้องกับรากผม
สำหรับโรคที่เกิดขึ้นกับเส้นผมและมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันระหว่างเส้นผมกับรากพบ ที่พบบ่อยนั้นมีอยู่ 5 โรคด้วยกัน คือ
- โรคผมร่วงจากกรรมพันธุ์ เป็นโรคที่ทำให้ผมร่วงทั้งศีรษะ และปัจจัยหลักมาจากเรื่องพันธุกรรมเมื่อเป็นแล้วเส้นผมจะเล็ก ร่วงง่าย และวงจรชีวิตเส้นผมจะสั้นลง เมื่อปล่อยทิ้งไว้รากผมจะอ่อนแอลงจนเกิดรากผมฝ่อ
- โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นโรคที่ผมร่วงเป็นวงมองเห็นขนาดประมาณเหรียญสิบ อาจเริ่มจากผมร่วงเพียงวงเดียวหรือหลายวงทั่วศีรษะได้ โดยบริเวณที่ผมร่วงจะไม่มีรอยโรคใด ๆ ปรากฏเลย ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ โรคผมร่วงเป็นหย่อม เกิดจากอะไร รักษาที่ไหนดี
- โรคผมร่วงฉับพลัน โรคที่รากผมอยู่ในช่วงที่หยุดเจริญเติบโต ทำให้เส้นผมหลุดออกพร้อมกันหลายบริเวณ และมีการผมร่วงฉับพลันตามมา สาเหตุนั้นมาได้จากทั้งเรื่องระบบภูมิคุ้มกันและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ
- โรครูขุมขนบนศีรษะอักเสบ โรคที่เกิดจากรูขุมขนบนศีรษะอักเสบเป็นโรคที่ทำให้รูขุมขนมีการอักเสบเกิดขึ้นจนลึกถึงรากผม และจะค่อย ๆ มองเห็นเป็นตุ่มแดงเม็ดเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณที่มีผมทำให้เกิดการอุดตันและระคายเคือง
ข้อควรระวังและคำแนะนำเพิ่มเติม
แม้ว่าปัญหารากผมจะเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่ก็ไม่ต้องกังวลจนเกินไปค่ะ เพราะปัญหานี้สามารถรู้ได้ก่อนที่จะเกิดการลุกลามหรือบานปลายไปสู่ภาวะที่รุนแรงยิ่งขึ้น และเมื่อรู้ปัญหาได้รวดเร็วจะช่วยให้รักษาและแก้ไขได้ง่ายขึ้น ซึ่งวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหารากผมสามารถทำได้ดังนี้ค่ะ
- สังเกตความผิดปกติของหนังศีรษะและเส้นผม เช่น เส้นผมมีขนาดเล็ก สั้น บางลงหรือไม่ หนังศีรษะมีรอยแดง ตุ่มแดง หรือมีอาการคัน ระคายเคืองเกิดขึ้นกับหนังศีรษะหรือไม่
- ตรวจสุขภาพประจำปี การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นประจำจะช่วยให้รู้ว่าเรามีความเจ็บป่วยด้วยโรคอะไร หรือมีความเสี่ยงกับโรคไหนที่อาจส่งผลถึงปัญหาเส้นผมรึเปล่า ยิ่งรู้ได้เร็วก็รักษาแก้ไขได้เร็วค่ะ
- ปรึกษาแพทย์เมื่อมีปัญหาเส้นผม เช่น มีอาการคันศีรษะอย่างรุนแรง หวีผมแล้วผมหลุดร่วง ขาดง่าย หรือมีผมร่วงเมื่อสระผมเป็นจำนวนมาก การปรึกษาแพทย์รับการวินิจฉัยและรักษาจะช่วยลดความรุนแรงของโรค และช่วยให้รากผมกลับมาแข็งแรงได้ค่ะ
สรุปเรื่องรากผม ส่วนสำคัญของเส้นผมที่ต้องดูแล
เรียกได้ว่าการดูแลและบำรุงเส้นผมอยู่เสมอไม่เพียงแค่ช่วยให้ได้เส้นผมที่เงางาม แข็งแรงได้อย่างที่ต้องการเท่านั้น แต่ยังเป็นวิธีที่ช่วยบำรุงไปถึงรากผมให้มีความแข็งแรง พร้อมสร้างเซลล์ที่แข็งแรงในการผลิตเส้นผมให้เจริญเติบโตได้อย่างแข็งแรง และไม่เพียงแค่การดูแลสุขภาพของเส้นผมอย่างการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่บำรุงเส้นผมและรากผมโดยตรง ก็เป็นวิธีที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เส้นผมมีปัญหา รวมถึงโรคที่เกี่ยวกับรากผม ทำให้มีเส้นผมที่แข็งแรงพร้อมจัดแต่งได้
คำถามที่พบบ่อย (FAQS)
รากผมไม่แข็งแรงสามารถรักษาให้แข็งแรงได้หรือไม่?
สามารถรักษาได้ค่ะ หากมีปัญหาที่รุนแรงมากอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาเพื่อให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้งค่ะ
อายุมีผลต่อความแข็งแรงของรากผมหรือไม่
อายุมีผลโดยตรงต่อความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนค่ะ และเมื่อฮอร์โมนอ่อนแอลงรากผมก็จะอ่อนแอตามไปด้วยค่ะ
การย้อมผมบ่อยมีผลต่อรากผมอย่างไร
สารเคมีในยาย้อมผมมีผลกับการทำให้รากผมอ่อนแอ และยังมีส่วนต่อการทำให้เกิดปัญหาหนังศีรษะ ผมหลุดร่วงง่ายได้อีกด้วยนะคะ
ควรใช้ผลิตภัณฑ์บำรุงรากผมประเภทใดให้ได้ผลดีที่สุด
แนะนำว่าควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารอาหารที่จำเป็นต่อเส้นผม และควรเลือกสูตรที่มีความอ่อนโยน ไม่มีส่วนผสมของสารเคมี หรือน้ำหอม จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อรากผมได้ค่ะ