ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ การปลูกผมถาวรเพื่อแก้ไขปัญหาผมร่วง ผมบาง หัวล้านได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งคลินิกหรือโรงพยาบาลปลูกผมที่เราเลือกบางที่นั้น ก็อาจไม่ได้อยู่ใกล้บ้านหรือตอบโจทย์เรื่องระยะทางได้มากนัก เพราะก็มีไม่น้อยเลยที่คนไข้ลงทุนเดินทางมาจากต่างจังหวัดหรือแม้แต่ต่างประเทศเพื่อการปลูกผมโดยเฉพาะ การประเมินเบื้องต้นผ่านช่องทางออนไลน์จึงเกิดขึ้น เพื่อประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของคนไข้ รวมไปถึงยังเอื้อต่อการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับคนไข้แต่ละคน แน่นอนว่าการประเมินออนไลน์จำเป็นต้องมีการเห็นลักษณะเส้นผมและหนังศีรษะจริงด้วย วันนี้หมอจึงมาแนะนำวิธีการถ่ายรูปในมุมต่าง ๆ เพื่อการประเมินที่ถูกต้องและแม่นยำมากขึ้นค่ะ
การเตรียมตัว
สำหรับการเตรียมตัวก่อนการถ่ายรูปประเมินนั้นเรียกได้ว่าแทบจะไม่ต้องเตรียมอะไรมากมาย เพียงแต่อาจจะมีอุปกรณ์นิดหน่อยเพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายรูปและทำให้การประเมินนั้นง่ายขึ้น โดยสิ่งที่ต้องเตรียมมีดังนี้
กล้องที่มีความคมชัด
ในการถ่ายรูปเพื่อการประเมินสำหรับที่ Hairsmith clinic จำเป็นต้องเห็นบริเวณศีรษะของคนไข้อย่างชัดเจน ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่มากมาย ฉากหลังจะเป็นอะไรก็ได้ เพราะมุมภาพที่หมอต้องการ จะอยู่แค่บริเวณศีรษะของคนไข้เท่านั้นค่ะ
ที่คาดผม
ที่คาดผมจะช่วยให้มองเห็นแนวผมและบริเวณพื้นที่ที่มีอาการผมร่วงผมบางได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น หากคนไข้ต้องการปลูกผมบริเวณที่เถิกร่นด้านหน้า การมีที่คาดผมก็จะทำให้คนไข้ถ่ายรูปได้สะดวกขึ้น แต่ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไรนะคะ สามารถใช้มือเสยผมขึ้นไปแทนได้เช่นกัน เพียงแต่ให้แน่ใจว่าคุณเปิดผมขึ้นจนหมดเพื่อให้เห็นแนวผมได้ชัดเจนค่ะ
มุมการถ่ายรูปประเมินที่ถูกต้อง
มุมในการถ่ายรูปเพื่อการประเมินเบื้องต้นนั้นก็จะเน้นบริเวณที่คนไข้มีความกังวลและไม่มั่นใจ นอกจากนี้ยังมีมุมภาพอื่นๆ อีกนิดหน่อยที่หมอจะใช้สำหรับการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อให้ดูหลายๆ มุมจะได้เทียบเท่ากับการเห็นตัวจริง ซึ่งประกอบไปด้วยมุมต่างๆ ตามนี้
รูปหน้าตรง
สำหรับคนไข้ที่กังวลเรื่องแนวผมด้านหน้าที่มีการถอยร่นขึ้นไป การถ่ายรูปหน้าตรงให้เห็นเต็มใบหน้า ทั้งรูปหน้า คิ้ว ตา จมูก ปาก ได้อย่างชัดเจนนี้จะช่วยให้หมอสามารถประเมินได้ว่าบริเวณที่ผมเถิกขึ้นไปนั้นมีมากน้อยเพียงใด และยังสามารถวิเคราะห์ได้ว่าถ้าหากทำการปลูกผมแล้ว แนวผมแบบไหนจะเข้ากับสัดส่วนรูปหน้าของคนไข้ได้ดีที่สุด
รูปก้มหน้าให้คางชิดลำตัว
รูปในมุมนี้จะทำให้หมอเห็นความลึกจากการเถิกร่นของแนวผมทั้งด้านหน้าและมุมตัว M ทั้งสองข้างชัดเจนมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หากคนไข้มีปัญหาเรื่องผมบางกลางศีรษะก็จช่วยให้หมอมองเห็นได้ชัดและนำมาประเมินได้แม่นยำขึ้นค่ะ
รูปหันข้าง 45 องศา (ทั้ง 2 ข้าง)
มุมที่ผู้ชายส่วนใหญ่มักมีปัญหามากที่สุด จะเป็นช่วงด้านข้างหน้าผากที่จะเว้าลึกเข้าไปเป็นรูปตัว M การที่ได้เห็นรูปถ่ายในมุมนี้ชัด ๆ จะทำให้เห็นความลึกของการถอยร่นรูปตัว M ได้เยอะขึ้น และทำให้การประเมินเบื้องต้นมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
รูปหันหลัง
การถ่ายรูปมุมนี้จะให้คนไข้หันหลังมองตรง ไม่ก้มหน้า เพราะแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับแนวผม แต่รูปถ่ายด้านหลังสามารถบ่งบอกถึงพื้นที่ที่เราจะย้ายผมออกมาได้ (Donor area) ว่ามีความหนาแน่นเพียงพอที่จะทำการปลูกผมในบริเวณที่ต้องการได้หรือไม่
วิธีถ่ายรูปสำหรับให้คุณหมอประเมินได้อย่างแม่นยำ
รูปตรงกลางศีรษะ
สำหรับใครที่ไม่ได้มีปัญหาในแนวผมส่วนหน้า แต่กังวลเรื่องผมบางกลางศีรษะหรือศีรษะล้านเป็นรูปไข่ดาว ก็ให้ถ่ายรูปมุมกลางศีรษะบริเวณที่บางให้หมอช่วยประเมินว่าควรจะรักษาด้วยวิธีใด
รูปในส่วนที่คนไข้กังวลใจ
หากรูปในมุมที่หมอขอให้คนไข้ถ่าย ยังไม่เพียงพอที่จะเห็นถึงมุมที่คนไข้มีความกังวลใจ เช่น รอยแผลเป็นต่างๆ ที่ทำให้เส้นผมหายไป แสกกลางบาง ศีรษะล้านในผู้หญิง ฯลฯ คนไข้ก็สามารถถ่ายรูปเพิ่มเติมและส่งมาให้หมอดู เพื่อประเมินอาการเบื้องต้นได้เช่นกัน
เทคนิคที่ช่วยให้การประเมินแม่นยำมากขึ้น
เพื่อให้การประเมินก่อนการปลูกผมมีความแม่นยำมากขึ้น หมอจึงรวมเอาเทคนิคต่างๆ มาฝาก รับรองว่าถ่ายผ่านในรอบเดียว ไม่ต้องถ่ายแก้ใหม่ให้ปวดหัวแน่นอน
ความคมชัดสำคัญที่สุด
ถ้าที่บ้านใครมีคนช่วยถ่ายให้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับคนไข้ที่อยู่คนเดียวก็ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ เพราะการประเมินนั้น คนไข้สามารถใช้กล้องหน้ามือถือสำหรับถ่ายได้ เพียงแค่ต้องระวังสักนิดเพื่อไม่ให้มือสั่นระหว่างถ่าย เพราะอาจทำให้ภาพที่ได้เบลอ ไม่โฟกัส ไม่ชัดเจน ซึ่งหมอก็จะวินิจฉัยได้ยากขึ้นค่ะ
ถ่ายตามมุมให้ถูกต้อง
ก่อนการถ่ายรูปส่งเพื่อรับการวินิจฉัยหรือประเมิน หลายๆ คลินิกหรือโรงพยาบาลปลูกผมมักมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำและส่งตัวอย่างการถ่ายรูปมุมต่างๆ ที่ถูกต้องไปให้ก่อนเสมอ ขอให้คนไข้ดูรูปตัวอย่างในบริเวณที่คนไข้กังวลจากเจ้าหน้าที่และถ่ายออกมาให้ได้มุมที่ใกล้เคียงมากที่สุด ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกและรวดเร็วของตัวคนไข้เอง
แสงสว่างต้องเพียงพอ
นอกจากมุมภาพแล้ว แสงสว่างในบริเวณที่ถ่ายก็สำคัญไม่แพ้กัน หากสถานที่ที่ใช้ถ่ายนั้นมืดจนเกินไป ก็ควรหาไฟมาเปิดหรือหาที่ที่มีแสงเพียงพอก็จะทำให้ภาพที่ได้นั้นมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นไปได้การใช้แสงสว่างจากธรรมชาติจะดีที่สุด เพราะแสงไฟจากหลอดไฟนั้นบางทีอาจจะสว่างจ้าเกินไป (overexposure) จนทำให้เกิดแสงสะท้อนบดบังบริเวณที่จะถ่ายได้ค่ะ
การให้ข้อมูลประวัติการรักษากับทางคลินิก
ในการประเมินเบื้องต้น หมออาจจะมีการซักถามประวัติการรักษาเบื้องต้น เช่น การรักษาที่ผ่านมา ยาที่ทานประจำ ระยะเวลาที่ผมร่วง ฯลฯ ดังนั้นเพื่อเป็นการให้ความร่วมมือกับทางคลินิกในการรักษา ทางคนไข้ควรตอบข้อมูลดังกล่าวตามความจริง เพื่อช่วยให้การประเมินรักษานั้น ทำได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น
การถ่ายรูปเพื่อประเมินเบื้องต้นก่อนการปลูกผมนั้น สามารถทำเองได้โดยแทบไม่ต้องเตรียมการอะไรมากมาย แต่ควรเน้นไปที่การถ่ายภาพในมุมที่คนไข้มีความกังวลใจ
เช่น แนวผมที่ถอยร่นเข้าไปเป็นตัว M บริเวณที่ผมบางกลางศีรษะเป็นรูปไข่ดาว รอยแผลเป็นที่ผมไม่ขึ้น ซึ่งคนไข้สามารถถ่ายรูปตามมุมต่างๆ ตามตัวอย่างที่ส่งให้ เพื่อให้คุณหมอประเมินได้แม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้การถ่ายรูปที่มีรายละเอียดชัดเจน อยู่ในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ รวมไปถึงการให้ข้อมูลประวัติการรักษาตามจริง ก็ส่งผลต่อการวินิจฉัยของแพทย์และความแม่นยำที่คนไข้จะได้รับด้วยค่ะ