หลังจากที่ได้ปลูกผมเพื่อแก้ปัญหาศีรษะล้านไปแล้ว อาจมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หนึ่งในนั้นคือภาวะ “Shock Loss” ซึ่งเป็นการร่วงของเส้นผมชั่วคราวหลังการปลูกผม แม้ว่าอาจฟังดูน่ากังวล แต่ในความเป็นจริงแล้ว Shock Loss เป็นผลข้างเคียงที่สามารถเกิดขึ้นได้ และมักจะหายไปเองในระยะเวลาสั้นๆ ในบทความนี้ เราจะมาทำความเข้าใจว่า Shock Loss คืออะไร ทำไมถึงเกิดขึ้น และควรรับมืออย่างไร
Shock Loss คืออะไร
ก่อนอื่นหมอขออธิบายให้ชัดเจนก่อนว่าเรากำลังพูดถึงผมธรรมชาติ หรือผมที่ไม่ได้ปลูก แต่มันร่วงหลังเข้ารับศัลยกรรมปลูกผมนะคะ สาเหตุของภาวะนี้ ถ้าให้อธิบายง่ายๆ ก็คือขั้นตอนต่างๆ ในระหว่างปลูกผมมันทำให้ผมเดิมที่มีอยู่แล้ว “ตกใจ” และร่วงออกไป อารมณ์เหมือนกับอยู่ดีๆ ข้างบ้านเราก็ตอกเสาเข็มโป๊กๆ เพื่อสร้างบ้านใหม่ เสียงดังโครมครามจนเราทนไม่ไหวต้องหนีไปนอนบ้านเพื่อนชั่วคราวนั่นแหละค่ะ
ภาวะ Shock Loss ก็เป็นปัญหาชั่วคราวเช่นเดียวกัน แถมยังสามารถเกิดได้ทั้งในบริเวณที่ปลูกผม (Recipient Area) และบริเวณที่นำผมออกมา (Donor Area) อีกด้วย โดยหลังจากที่ผมร่วงไปแล้ว กว่าจะขึ้นใหม่ก็ต้องใช้เวลา 3-5 เดือนสำหรับบริเวณที่ปลูก หรือ 6-12 เดือนสำหรับบริเวณที่นำผมออกมาซึ่งปกติมักจะใช้เวลานานกว่า
หลังปลูกผมในบางกรณี ภาวะ Shock Loss ที่เกิดขึ้นบริเวณที่ปลูกก็อาจจะกลายเป็นปัญหาถาวรได้เช่นกัน หากผมที่ร่วงนั้นได้รับอิทธิพลจากกรรมพันธุ์ให้ต้องร่วง และอาจจะอยู่ใน Cycle สุดท้ายของมันพอดี ซึ่งพอร่วงไปแล้วก็เลยไม่ขึ้นอีก อันนี้ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆ
เป็น Shock Loss รับมืออย่างไร
เมื่อเผชิญกับภาวะ Shock Loss หลังปลูกผม การรับมืออย่างถูกวิธีสามารถช่วยให้ลดความกังวลได้ วิธีรับมือมีดังนี้ค่ะ
- อย่าตกใจ การที่เกิด Shock Loss หลังปลูกผมเป็นเรื่องปกติ และเกิดขึ้นได้กับหลายคน จำไว้ว่าผมที่ร่วงเป็นเพียงชั่วคราว และจะงอกขึ้นใหม่ใน 3-6 เดือน
- ดูแลสุขภาพหนังศีรษะ รักษาความสะอาดของหนังศีรษะตามคำแนะนำของแพทย์ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่อ่อนโยนและเหมาะสมกับสภาพหนังศีรษะ และหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีรุนแรง
- หลีกเลี่ยงการทำร้ายเส้นผม หลีกเลี่ยงการดึงหรือถูผมแรงๆ งดการใช้ความร้อนสูงในการจัดแต่งทรงผม เช่น ไดร์เป่าผมหรือเครื่องหนีบผม เพื่อป้องกันไม่ให้เส้นผมที่ยังอ่อนแอเกิดความเสียหายเพิ่มเติม
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานอาหารที่มีสารอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผม เช่น โปรตีน วิตามิน B และสารอาหารอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพผม เพื่อช่วยให้ผมงอกใหม่ได้ดีขึ้น
- ทำตามคำแนะนำของแพทย์ ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการดูแลหลังปลูกผมอย่างถูกวิธี หากมีคำถามหรือข้อกังวลใด ๆ แพทย์จะให้คำแนะนำที่เหมาะสมและช่วยติดตามอาการค่ะ
สามารถศึกษาวิธีการดูแลตัวเองหลังปลูกผมได้ที่นี่ค่ะ
ไม่ว่าคุณหมอจะเก่งชนิดหาตัวจับยาก สามารถเจาะผมออก หรือปลูกผมได้เบามือขนาดไหน ก็ต่างเคยเจอปัญหานี้กันทั้งนั้นค่ะ เพราะมันไม่ใช่ผลข้างเคียงที่แปลกใหม่ จากประสบการณ์ของหมอ คนไข้มีโอกาสเพียง 5% ที่จะเจอเจ้าภาวะนี้ แต่ถ้าใครเจอเข้าหลังปลูกผมล่ะก็ ไม่ต้องตกใจไปนะคะ รอซักนิดเดียวมันก็ขึ้นใหม่