ในการเรียกความมั่นใจสำหรับคนที่ผมร่วงผมบางกลับคืนมาอย่างถาวร การปลูกผมถือเป็นวิธีที่ตอบโจทย์และให้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนที่สุด ในบทความก่อนๆ หมอเคยเขียนไปหลายเคสแล้วว่าการปลูกผมนั้นเหมาะกับใครบ้าง แต่ในวันนี้หมอจะมาพูดเรื่องข้อจำกัดในการปลูกผม ว่าใครที่อาจจะไม่เหมาะกับการปลูกผมหรือใครไม่สามารถปลูกผมได้มาฝากกัน เพื่อเป็นการสำรวจตัวเองเบื้องต้นค่ะ
ใครไม่เหมาะกับการปลูกผม
ผู้ที่ไม่มีผมตั้งแต่แรกเกิด
ในบางคนที่เกิดมาแล้วไม่มีเส้นผม เส้นขนเลย ไม่ว่าจะเป็นจากความผิดปกติของฮอร์โมนหรือจากภาวะความผิดปกติด้านพันธุกรรมอย่างโรคสังข์ทอง (Ectodermal Dysplasia) ก็ตาม จะทำให้ไม่สามารถปลูกผมได้ เพราะการปลูกผมไม่ใช่การปลูกเส้นผมใหม่ขึ้นมาเหมือนการปลูกต้นไม้จากเมล็ด แต่เป็นการย้ายเอารากผมจากอีกที่หนึ่งมายังอีกที่หนึ่งต่างหาก
ผู้ที่มีอาการผมร่วงรุนแรง
ในคนไข้ที่มีความรุนแรงของหัวล้านอยู่ในระดับ 6-7 อาจไม่เหมาะกับการปลูกผม เพราะบริเวณที่ล้านมีขนาดที่กว้างมากเกินไป จนเส้นผมจาก Donor area อาจจะไม่เพียงพอต่อการปลูกผมให้คนไข้ หรือถึงต่อให้ยืนยันว่าจะปลูกยังไง สุดท้ายผลลัพธ์ที่ได้ ก็ไม่เป็นที่น่าพอใจอยู่ดีค่ะ
มีเส้นผมบริเวณ DONOR AREA อ่อนแอ
ถึงแม้ว่าระดับหัวล้านของเราจะยังไม่ถึงเลเวลที่รุนแรงจนปลูกผมไม่ได้ แต่ถ้าเส้นผมตรงส่วนของ Donor area ของเรามีความแข็งแรงที่ไม่เพียงพอหรือมีปัญหาผมบางในส่วนตรงท้ายทอย ทางแพทย์ก็ไม่สามารถที่จะเจาะเก็บกราฟท์ผมออกมาปลูกในส่วนอื่นให้คนไข้ได้ เพราะนอกจากปริมาณเส้นผมจะไม่เพียงพอแล้ว ยังทำให้บริเวณดังกล่าวซึ่งผมจากที่บางอยู่แล้วยิ่งดูบางเข้าไปอีก
มีอาการแพ้ยาชาอย่างรุนแรง
แม้ว่าการปลูกผมจะไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่อะไร แต่ก็ยังจำเป็นที่จะต้องใช้ยาชาในขั้นตอนต่างๆ อยู่ดี ผู้ที่แพ้ยาชาจึงอาจจะเป็นปัญหาสักหน่อย ทางที่ดีคือควรปรึกษาแพทย์ปลูกผมที่คนไข้เลือก เพื่อดูชนิดของตัวยาของยาชาว่ามีอาการแพ้มั้ย
ป่วยโรคอะไรปลูกผมไม่ได้
โรคฮีโมฟีเลีย (HEMOPHILIA)
หรือที่บางคนอาจรู้จักในชื่อ โรคเลือดออกง่าย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดจากความผิดปกติของยีนที่สร้างปัจจัยการแข็งตัวของเลือด (coagulation factor) ซึ่งในการปลูกผมนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการเจาะและปลูกเซลล์รากผมเข้าไปที่หนังศีรษะ ผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่ายนอกจากจะทำให้เลือดหยุดไหลช้าแล้ว ยังส่งผลให้เส้นผมที่เพิ่งปลูกไปถูกดันออกมาได้ ทำให้ผมที่ปลูกไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
โรคติดต่อทางเลือด
เช่น โรคเอดส์ ซิฟิลิส HIV ฯลฯ ที่เป็นโรคที่สามารถติดต่อสู่ผู้อื่นได้ผ่านทางเลือดหรือสารคัดหลั่งอื่นๆ ในกรณีที่ยังอยู่ในระยะแพร่เชื้อ จะยังไม่สามารถปลูกผมได้ ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยของคนไข้ที่อาจเกิดการติดเชื้อจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรง รวมไปถึงบุคลากรที่ทำการปลูกผมด้วย แต่ถ้าคนไข้รับการรักษาจนอาการคงที่ และเชื้ออยู่ในระยะที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้แล้วก็สามารถทำการปลูกผมได้ แต่ต้องไม่ลืมปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อนนะคะ
โรคผิวหนังบนหนังศีรษะ
ไม่ว่าจะเป็นโรคทางผิวหนังชนิดใด คนไข้ต้องรักษาอาการของโรคผิวหนังดังกล่าวให้อาการคงที่หรือหายขาดเสียก่อนแล้วจึงค่อยปลูกผม เพราะถ้าหากเราปลูกผมตั้งแต่อาการของโรคยังคงแสดงอยู่ จะไม่เป็นผลดีกับผลลัพธ์ในการปลูกผมได้ ซึ่งอาจทำให้ปลูกผมไม่ติดได้นั่นเอง
สรุป
ผู้ที่ไม่เหมาะกับการปลูกผมนั้นสามารถเกิดได้จากทั้งความผิดปกติของฮอร์โมนหรือพันธุกรรมที่ทำให้คนไข้เกิดมาโดยไม่มีเส้นผมตั้งแต่เกิด เช่น โรคสังข์ทอง รวมไปถึงในผู้ที่มีภาวะหัวล้านรุนแรงในระดับที่ 6-7 เพราะขนาดของส่วนที่ล้านนั้นกว้างเกินไป จนทำให้เส้นผมจาก Donor area นั้นไม่เพียงพอที่จะทำการปลูกให้คนไข้ได้ หรือแม้แต่ถ้าเส้นผมในบริเวณ Donor area อ่อนแอและบางจนเกินไปก็ไม่สามารถปลูกได้เช่นกัน เพราะจะทำให้ผมที่บางอยู่แล้วยิ่งบางเข้าไปใหญ่ และในกรณีที่แพ้ยาชารุนแรงก็อาจเป็นปัญหาในการปลูกผมได้เช่นกัน
ในส่วนของการปลูกผมไม่ได้ที่เกิดจากโรคภัย โรคที่ไม่เอื้ออำนวยให้ทำการปลูกผมเลย ได้แก่ โรคฮีโมฟีเลียหรือโรคเลือดออกง่าย โรคติดต่อทางเลือดต่างๆ และโรคผิวหนังบางชนิด ซึ่งคนไข้ต้องทำการรักษาโรคเหล่านี้ให้หายขาดหรืออยู่ในระยะคงที่ที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้อีก จึงจะสามารถทำการปลูกผมได้
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนการปลูกผมคือการที่คนไข้จำเป็นที่จะต้องบอกข้อจำกัดของคนไข้ให้แพทย์ทราบทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของตัวคนไข้และเพื่อผลลัพธ์ที่จะออกมาด้วยค่ะ