การรักษาความสะอาดก็เป็นอีกทางที่สามารถทำให้เรามีภาพลักษณ์ที่ดูดีขึ้นได้ แต่จะเป็นยังไงหากเราดูแลตัวเองดีแต่ดันมีกลิ่นผมเหม็นไม่พึงประสงค์โชยออกมาจากผมของเรา ใช่ค่ะ วันนี้เราจะมาพูดคุยกับในหัวข้อเรื่องภาวะผมเหม็น ที่น้อยคนนักที่จะรู้ ว่าอาการนี้มันมีอยู่จริง ทั้งยังลดทอนความมั่นใจของผู้คนในสังคมมานักต่อนัก และวิธีทางแก้ผมเหม็นที่ตรงจุด เพื่อให้เรากลับมายืนยืดอกอย่างมั่นใจต่อไปค่ะ
เช็คลิสต์กันก่อน เราเสี่ยงภาวะผมเหม็นมั้ยนะ
- สระผมเสร็จยังไม่ทันข้ามวัน ผมก็เหม็นขึ้นมาเสียอย่างงั้น ทั้ง ๆ ที่ไดร์ผมจนแห้งสนิทแล้ว
- ผมมีกลิ่นเหม็นคล้ายฟองน้ำเก่า กลิ่นอับ หรือกลิ่นขนหมาเปียก
- สระผมหลายรอบ ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมช่วยก็ไม่หายเหม็น
- หมักผมด้วยยาหรือสมุนไพร ก็ช่วยได้แค่ในระยะเวลาสั้น ๆ
ทำความรู้จักภาวะผมเหม็น
ภาวะผมเหม็น หรือ Smelly hair syndrome เป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายของเรา ซึ่งเมื่อภาวะดังกล่าวเกิดขึ้น ก็จะทำให้เส้นผมและหนังศีรษะเกิดความมันและกลิ่นเหม็นได้ง่ายกว่าปกติ อาการโดยทั่วไปจะคล้ายกับคนที่ไม่ได้สระผมนาน ๆ หรือกลิ่นเหมือนเวลาออกไปข้างนอกแล้วติดกลิ่นเหม็นไม่พึงประสงค์เข้ามา ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นก็จะเป็นแบบตามเช็คลิสต์ด้านบน ไม่ว่าจะเป็น สระผมแล้วผมก็ยังเหม็นอยู่ มีกลิ่นผมคล้ายฟองน้ำเก่า ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมหรือหมักผมด้วยยาหรือสมุนไพรก็ช่วยได้เพียงนิดหน่อยเท่านั้น
สาเหตุของภาวะผมเหม็น
- ต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไป – เพราะไขมันถูกผลิตออกมามากจนเกินไป ทำให้เส้นผมของเรา ทำหน้าที่เสมือนกับฟองน้ำ ที่ดูดซับเอากลิ่นไม่พึงประสงค์และมลภาวะต่าง ๆ รอบตัวมาเก็บไว้ที่เส้นผม ทำให้ผมเหม็นไวกว่าที่ควรจะเป็น
- ต่อมเหงื่อผลิตเหงื่อมากกว่าปกติ – เหงื่อที่ออกมากเกินไป เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เส้นผมและหนังศีรษะเกิดการอับชื้นได้ง่าย ทั้งยังเกิดการหมักหมมของแบคทีเรียได้อีกด้วย
- ฮอร์โมน – การใช้ยาบางชนิด ส่งผลต่อระดับฮอร์โมนในร่างกายของเราได้ ไม่ว่าจะเป็นยาคลายเครียด การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทน การใช้ยาคุมกำเนิด ฯลฯ ซึ่งจะมีผลกระทบโดยตรงกับฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ที่ทำหน้าที่ควบคุมไขมันบนหนังศีรษะ ที่เมื่อพอระดับฮอร์โมนเกิดไม่สมดุลขึ้นมา ต่อมไขมันจึงผลิตไขมันมากเกินไป ก็ส่งผลให้ผมเหม็นได้ค่ะ
- ผมเส้นเล็ก – คนที่มีผมเส้นเล็ก มักผมมันมากกว่าคนที่มีผมเส้นใหญ่ เนื่องจากมีรูขุมขนและปริมาณเส้นผมที่มากกว่า ทำให้มีต่อมไขมันที่มากกว่าตามไปด้วย
- เชื้อราบนหนังศีรษะ – หรือที่รู้จักกันในชื่อ กลากที่หนังศีรษะ (Tinea Capitis) เป็นเชื้อราที่ติดจากสัตว์สู่คน สามารถแพร่กระจายได้ทั้งในหมา แมว มนุษย์ และติดอยู่กับสิ่งของต่าง ๆ โดยเชื้อราตัวนี้มักพบในเด็กผู้ชาย ที่นอกจากจะทำให้เกิดภาวะผมเหม็นแล้ว ยังทำให้เกิดผมร่วงควบคู่ไปได้ด้วย
- โรคผิวหนัง – โรคผิวหนังต่าง ๆ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะผมเหม็นได้หากเกิดการติดเชื้อหรืออักเสบขึ้นมา เช่น โรคเซบเดิร์ม โรคสะเก็ดเงินที่หนังศีรษะ เป็นต้น
วิธีแก้ไขปัญหาผมเหม็นแบบตรงจุด
ในปัจจุบัน ภาวะผมเหม็นยังไม่มีวิธีรักษาอย่างแน่ชัด ยกเว้นเสียแต่ว่าต้นเหตุของปัญหา มาจากปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น หากมีภาวะผมเหม็นเพราะโรคกลากที่หนังศีรษะ เมื่อทำการรักษากลากจนหายแล้ว อาการผมเหม็นก็จะหายไป แต่หากเป็นปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เราก็สามารถลดความรุนแรงของภาวะนี้ได้ ดังนี้ค่ะ
- สระผมให้บ่อย และเป่าผมให้แห้งทันที ไม่ปล่อยให้แห้งเอง
- ใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกับหนังศีรษะ เช่น แชมพูเด็ก
- หลีกเลี่ยงการใช้ครีมนวดผม หรือทรีตเม้นต์ที่ทำให้ผมมันมากขึ้น
- ไม่แคะ แกะ เกาหนังศีรษะและเส้นผม เพื่อลดการกระตุ้นการขับน้ำมันออกมา
- งดใช้ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เช่น สเปรย์ เจลแต่งผม น้ำมันต่าง ๆ เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าว มีผลต่อความมันบนหนังศีรษะ
- ไม่อยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน เพื่อลดการเกิดเหงื่อ
สรุป หัวเหม็น แก้อย่างไร
ภาวะผมเหม็น หรือ Smelly hair syndrome เป็นภาวะความผิดปกติอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ทำให้เส้นผมและหนังศีรษะเกิดความมันและกลิ่นเหม็นได้ง่าย โดยลักษณะอาการจะมีปัญหาเรื่องกลิ่นจากศีรษะ ที่ใกล้เคียงกับฟองน้ำเก่าหรือขนหมาเปียกน้ำ
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากที่ไม่ได้สระผมเป็นเวลานาน การที่ร่างกายเกิดการผลิตไขมันและเหงื่อที่บริเวณหนังศีรษะในปริมาณที่มากกว่าปกติ การเป็นโรคทางผิวหนัง และการติดเชื้อรา ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะหัวเหม็นได้ทั้งสิ้น
ในปัจจุบันการรักษาภาวะผมเหม็นที่ตรงจุด คือการรักษาโดยพิจารณาจากต้นเหตุ หากต้นเหตุเกิดจากโรคที่รักษาได้ ก็ต้องทำการรักษาโรคนั้น ๆ ให้หายเสียก่อน ภาวะผมเหม็นจึงจะหายตามไป แต่ถ้าหากเป็นสาเหตุที่เกิดจากสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การผลิตน้ำมันและเหงื่อที่มากเกินไป ก็สามารถบรรเทาความรุนแรงของภาวะผมเหม็นได้จากการสระผมให้บ่อยขึ้นและเป่าผมให้แห้งทันที ใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน ลดการสัมผัสหนังศีรษะและเส้นผม เพื่อลดการผลิตน้ำมันที่มากขึ้น เป็นต้น