เส้นผมสำคัญอย่างไร ทำไมคนเราต้องมีผม

เส้นผมสำคัญอย่างไร ทำไมคนเราต้องมีผม_1

ถ้าพูดถึงเรื่อง เส้นผม แน่นอนว่าต้องเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของร่างกายที่เราต่างก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจในส่วนประกอบของผมและรู้ว่าเส้นผมมีหน้าที่อะไรจริงๆ บทความในวันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงหน้าที่และความสำคัญของเส้นผม พร้อมวิธีดูแลให้เส้นผมสวย อยู่กับเราไปนานๆ

หน้าที่หลักของเส้นผม

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับโครงสร้างและวงจรของเส้นผม เราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า เส้นผมของเรามีหน้าที่อะไรบ้าง โดยในที่นี้จะขอแบ่งออกเป็นด้านต่างๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น ได้แก่ ปกป้อง ป้องกัน และส่งเสริม ซึ่งมีความสำคัญในแต่ละด้านดังนี้

เส้นผมสำคัญอย่างไร ทำไมคนเราต้องมีผม_1

ปกป้อง 

ถึงจะเป็นเพียงผมเส้นเล็กๆ แต่เส้นผมก็สามารถปกป้องศีรษะของเราจากความร้อน รวมไปถึงแสงแดดที่แผดเผาของประเทศไทยไว้ได้ ซึ่งอันตรายจากแสงแดดและความร้อนจากภายนอกนั้น เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะผิดปกติได้มากมาย เช่น อาการปวดหัวไมเกรน มะเร็งผิวหนังบางชนิด เป็นต้น

ป้องกัน

ไม่เพียงแค่เส้นผมจะมีความสามารถในการปกป้องความร้อนจากภายนอกเท่านั้น เส้นผมยังมีหน้าที่ช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนจากภายในร่างกายของเราอีกด้วย นั่นเป็นเพราะร่างกายของคนเรา จำเป็นที่จะต้องรักษาอุณหภูมิเอาไว้ไม่ให้ร้อนไปหรือเย็นกินไป เพื่อรักษาการทำงานที่เป็นปกติของอวัยวะภายในร่างกายนั่นเอง

ส่งเสริม

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเส้นผมสามารถช่วยส่งเสริมบุคลิกภาพภายนอกของเราให้ดูดีและสร้างความมั่นใจให้ตัวเราได้ การมีผมที่สวยและแข็งแรงจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของคนเราได้เป็นอย่างดี

โครงสร้างของเส้นผม

เส้นผม คือ การทับถมกันของเซลล์ที่ตายแล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยกรดอะมิโนและแร่ธาตุมากมาย เช่น คาร์บอน (Carbon) ไฮโดรเจน (Hydrogen) ไนโตรเจน (Nitrogen) ฟอสฟอรัส (Phosphorus) และซัลเฟอร์ (Sulfur) เป็นต้น โดยจะแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ เส้นผม (Hair shaft) ที่งอกออกมาเหนือหนังศีรษะ และรากผม (Hair root) ที่อยู่ใต้หนังศีรษะ

โครงสร้างของเส้นผม (HAIR SHAFT) แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน ดังนี้

เส้นผมสำคัญอย่างไร ทำไมคนเราต้องมีผม_2

เกล็ดผม (CUTICLE)

เป็นส่วนที่อยู่ชั้นนอกสุด เกิดขึ้นจากเซลล์เคราติน (Keratin) เรียงตัวกันเป็นชั้นคล้ายเกล็ดปลา ทำหน้าที่ปกป้องเนื้อผมจากสิ่งต่างๆ ภายนอก

เนื้อผม (CORTEX)

ถัดจากเกล็ดผมเข้ามา จะเป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุด ประกอบไปด้วยเส้นใยเคราตินเส้นยาวหลายสายและยึดเกาะกันเอาไว้ด้วยกาวที่เรียกว่า เซลล์เมมเบรน คอมเพล็กซ์ (Membrane complex) และยังมีเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ที่เป็นตัวกำหนดสีผมของเรา หากชั้นเนื้อผมถูกทำลายจะส่งผลทำให้เส้นผมอ่อนแอ เปราะบาง และแตกปลายได้ง่าย

แกนผม (MEDULLA)

เป็นใจกลางของเส้นผม มีลักษณะเป็นรูกลวง ไม่มีบทบาทในการทำงานแต่ส่วนมากจะพบในผมของผู้ที่มีสภาพแข็งแรงหรือคนที่มีผมเส้นใหญ่และด้วยลักษณะที่มีรูกลวงแบบนี้เอง ทำให้แกนผมเป็นตัวที่เพิ่มความหนาของเส้นผมได้ด้วย

โครงสร้างของรากผม (HAIR ROOT)

รากผมเป็นส่วนที่ถูกฝังอยู่ใต้หนังศีรษะ ประกอบไปด้วย ต่อมรากผม (Hair Follicle) กระเปาะผม (Hair bulb) เนื้อเยื่อยึดต่อ (Connective Tissue)  ซึ่งแต่ละส่วนล้วนมีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม เพราะมีเส้นเลือดรวมไปถึงเส้นประสาทมาหล่อเลี้ยงเอาไว้ ทำให้รากผมมีการแบ่งตัวและเกิดเซลล์ผมใหม่ขึ้นมาได้เรื่อยๆ นั่นเอง

วงจรของเส้นผม

วงจรของเส้นผม หรือ Hair Growth Cycle แบ่งออกได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

เส้นผมสำคัญอย่างไร ทำไมคนเราต้องมีผม_3

ระยะเจริญเติบโต (ANAGEN)

เป็นระยะที่ต่อมรากผมจะสร้างเซลล์เส้นผมขึ้นและงอกยาวออกมาเป็นเส้นผม โดยจะใช้เวลา 3-7 ปี ขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์ของแต่ละคน ถ้าใครยิ่งมีช่วงนี้นานเท่าไหร่ ก็จะส่งผลให้มีผมที่งอกออกมาได้ยาวมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งกว่า 80-90% ของเส้นผมของเราอยู่ในระยะนี้

ระยะหยุดเจริญเติบโต (CATAGEN)

ถือเป็นระยะที่สั้นที่สุดหรือเรียกว่าเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านช่วงก็ว่าได้ เพราะเมื่อสิ้นสุดช่วงเจริญเติบโตต่อมรากผมจะหดตัว และทำให้ปลายรากผมเลื่อนตัวเข้าสู่ชั้นผิวหนัง โดยในช่วงนี้จะใช้เวลาราว 2-3 สัปดาห์ และในระยะนี้มีเพียง 1% ของเส้นผมทั้งหมดเท่านั้น

ระยะพัก (TELOGEN)

ช่วงระยะสุดท้ายของเส้นผมเป็นระยะที่ต่อมรากผมจะพักฟื้นฟูตัวเอง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตเซลล์รากผมชุดใหม่ช่วงนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เพื่อรอให้เซลล์รากผมชุดใหม่เจริญเติบโตขึ้นมาดันเส้นผมชุดเก่าให้ร่วงออกไป ซึ่ง 10% ของเส้นผมของเราจะอยู่ในระยะนี้

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม

ปัจจัยที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม เป็นปัจจัยทั้งภายนอกและภายในที่ไม่ได้ส่งผลกระทบให้เส้นผมเจริญเติบโตช้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ด้วย

  • อาหาร  – การขาดสารอาหารก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เส้นผมมีการเจริญเติบโตที่ช้าลงได้ โดยเฉพาะโปรตีน ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นผม รวมไปถึงสารอาหารจำพวกวิตามินบีรวม ที่พบได้มากในยีสต์ โยเกิร์ต เป็นต้น
  • ฮอร์โมน – การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผมเช่นกัน โดยฮอร์โมนไทรอยด์จะกระตุ้นให้เกิดการหงอกของเส้นผมหรือภาวะผมร่วงหลังคลอดก็ทำให้เกิดผมร่วงมากผิดปกติได้เช่นกัน
  • กรรมพันธุ์ – กรรมพันธุ์ส่งผลต่อเส้นผม ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัวที่มีผมบาง ผมเส้นเล็ก ไปจนถึงชาติพันธุ์ในแต่ละเชื้อชาติ ก็ส่งผลต่อสภาพเส้นผมของคนในแถบนั้นๆ ให้แตกต่างกันออกไป
  • สภาพอากาศ – แม้ว่าสภาพอากาศจะไม่ส่งผลต่อการงอกของเส้นผม แต่ก็สามารถทำให้เกิดปัญหาเส้นผมได้ เช่น หากถูกแสงแดดแรงๆ เป็นเวลานาน ก็จะทำให้เส้นผมแห้งเสีย แตกปลายได้
  • สารเคมี – สารเคมีมักก่อให้เกิดการระคายเคืองที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้เกิดภาวะผมร่วงได้ นอกจากนี้ สารเคมีบางอย่างที่มีสารลดแรงตึงผิวก็ทำให้เส้นผมหยาบกระด้างและชี้ฟูอีกด้วย

ปัญหาเส้นผมที่พบบ่อย

ผมแห้งเสีย ชี้ฟู

สาเหตุของผมแห้งเสีย ชี้ฟู เกิดได้เส้นผมสูญเสียความชุ่มชื้น เช่น การสระผมด้วยน้ำอุ่น การโดนแสงแดดจัดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน รวมไปถึงการจัดแต่งทรงผมด้วยความร้อนก็ได้เช่นกัน

ผมอ่อนแอ เปราะบาง ขาดง่าย

เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่พบเจอได้บ่อย มักมาจากอายุที่มากขึ้น หรือการสูญเสียโปรตีนอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นผม

ผมร่วง ผมบาง

ปัจจัยของปัญหาผมร่วง ผมบาง เกิดได้ทั้งจากสุขภาพภายในและสภาพแวดล้อมภายนอก ไม่ว่าจะเป็นกรรมพันธุ์ในครอบครัว ภาวะเครียด การพักผ่อนไม่เพียงพอ การทานสารอาหารไม่ครบถ้วนตามความต้องการของร่างกายหรือจะเป็นปัจจัยภายนอก อย่างฝุ่น ควัน ไปจนถึงมลภาวะต่างๆ เป็นต้น

ผมร่วงจากกรรมพันธุ์

ผมร่วงจากกรรมพันธุ์ (Androgenetic Alopecia) คืออาการผมร่วงที่เกิดจากเหตุผลทางกรรมพันธุ์ หากใครที่มีกรรมพันธุ์ผมร่วงนี้ ในช่วงแรกผมจะเส้นเล็กลง ร่วงง่ายขึ้น และผมที่งอกขึ้นมาใหม่จะอ่อนแอไม่แข็งแรงเท่าเดิม เมื่อผมร่วงมากขึ้น ต่อมาก็จะเริ่มบางจนเห็นหนังศีรษะ และบริเวณดังกล่าวจะขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นปัญหาศีรษะล้านได้ในที่สุด โดยอาการผมร่วงจากกรรมพันธุ์นี้ มีสาเหตุมาจากฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (Dihydrotestosterone) หรือฮอร์โมน DHT เป็นฮอร์โมนที่สร้างมาจากฮอร์โมนเพศที่เรียกว่าฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) เข้าไปจับกับตัวรับแอนโดรเจน (Androgen receptor) ที่รากผม ส่งผลทำให้ผมที่ผลิตออกมามีเส้นเล็กลง และมีระยะเจริญเติบโตของผมสั้นลงนั่นเอง

เส้นผมสำคัญอย่างไร ทำไมคนเราต้องมีผม_4

ผมร่วงจากโรคต่างๆ

โรคบางชนิดก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาผมร่วงผมบางได้เช่นกัน อาทิ โรคไทรอยด์ โรคไต โรคดึงผมตัวเอง โรคผมร่วงเป็นหย่อม หรือโรคทางผิวหนังบางอย่าง เช่น การติดเชื้อที่หนังศีรษะ เซ็บเดิร์ม เป็นต้น ซึ่งถ้าหากเรารู้ว่าสาเหตุของผมร่วงเกิดจากโรคเหล่านี้ และทำการรักษาให้หายจากโรคแล้ว อาการผมร่วง ผมบางก็จะกลับมาดีขึ้นได้เองตามลำดับ ทั้งนี้ก็เป็นไปได้เช่นกันว่าการรักษาด้วยยาบางชนิด ก็อาจทำให้อาการผมร่วงผมบางหนักขึ้นได้ เช่น การรักษาภาวะซึมเศร้า การรักษามะเร็งด้วยการฉายรังสี ฯลฯ แต่อาการเหล่านี้เป็นเพียงอาการชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่ต้องกังวลไปแต่อย่างใด

ผมเสียจากพฤติกรรม

พฤติกรรมบางอย่างก็ส่งผลทำให้ผมเสียได้เช่นกัน โดยส่วนมากมักมาจากการจัดแต่งทรงผมด้วยความร้อน เช่น การยืดผม ดัดผม หรือการไดร์ผมให้แห้งด้วยลมร้อนเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีเรื่องของสารเคมีเข้ามาเกี่ยวข้อง อย่างการยืดผมถาวร การย้อมสีผม การทำทรีตเมนต์ต่างๆ ติดต่อกันโดยไม่ได้มีการพักผม เพื่อให้เส้นผมได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง นอกจากนี้การมัดผม รวบผมแน่นๆ ตลอดทั้งวัน ก็สามารถทำให้เส้นผมอ่อนแอและหลุดร่วงได้ด้วย ทางที่ดีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย ก็สามารถลดผลกระทบที่อาจเกิดกับเส้นผมของเราได้มากกว่าที่คิด จึงไม่ควรละเลยที่จะดูแลเส้นผมนับตั้งแต่วันนี้

วิธีดูแลเส้นผมให้แข็งแรงสุขภาพดี

การดูแลเส้นผมให้สุขภาพดีและแข็งแรงอยู่เสมอนั้น สามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น

ทานอาหารให้พอดีต่อความต้องการของร่างกาย

การทานอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย นับเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ไม่ต้องรอให้ผมเสียก่อนก็สามารถทำได้ โดยเฉพาะการทานอาหารจำพวกโปรตีนให้เพียงพอในแต่ละวัน เพราะโปรตีนคือส่วนประกอบสำคัญในเส้นผม ที่ถ้าหากขาดไป ก็จะทำให้ผมเปราะบางและแตกปลายได้ง่าย

พักผ่อนให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอก็เป็นอีกทางที่ช่วยให้เส้นผมของเราสุขภาพดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก นั่นเป็นเพราะการนอนหลับคือพื้นฐานของสุขภาพที่ดี หากเรานอนไม่เพียงพอก็จะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เมื่อร่างกายอ่อนแอลงแล้ว เส้นผมก็ยากที่จะคงสภาพไว้ไม่ให้อ่อนแอตามนั่นเอง

สระผมให้ถูกวิธี

วิธีสระผมที่ถูกต้องนั้นสำคัญกว่าที่คิดเพราะหากเราสระผมไม่ถูกวิธี นอกจากจะทำให้ผมไม่สะอาดแล้ว ยังทำให้ผมยิ่งร่วงหนักมากขึ้นกว่าเดิมได้อีกด้วย

เส้นผมสำคัญอย่างไร ทำไมคนเราต้องมีผม_4

บำรุงด้วยทรีตเมนต์บ้าง

หากร่างกายต้องการสารอาหาร เส้นผมก็ต้องการสารอาหารเช่นกันการทำทรีตเมนต์เพื่อเติมสารอาหารเข้าเส้นผมโดยตรง จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นไม่น้อยไปกว่าวิธีอื่นๆ เลย

ลดการใช้ความร้อนและสารเคมี

ไม่มีกฎข้อห้ามสำหรับการใช้ความร้อนและสารเคมีในการจัดแต่งทรงผมแต่ถ้าหากลดความถี่ในการทำลงบ้าง และพักให้เส้นผมได้มีช่วงเวลาฟื้นฟูตัวเองสักหน่อย ก็ทำให้สุขภาพผมที่เคยเสียกลับมาดีขึ้นได้แน่นอน

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจทำร้ายเส้นผม

เช่นการมัดผมหรือทำผมที่ต้องมีการดึงรั้งเส้นผมนานๆ การทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การเข้านอนไม่ครบเวลาที่ร่างกายต้องการ ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้ ล้วนทำให้เส้นผมสุขภาพแย่ลงเรื่อยๆ หากเราค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ดีทีละนิด ก็จะลดภาระที่เกิดกับเส้นผมไปได้เยอะทีเดียว

สรุป

เส้นผม มีความสำคัญกับคนเรามาก ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการปกป้องศีรษะของเราจากแสงแดด การป้องกันการสูญเสียความร้อนในร่างกาย ไปจนถึงการเสริมสร้างความมั่นใจและบุคลิกภาพให้เราได้ การทำความรู้จัก ทำความเข้าใจถึงวงจรและโครงสร้างของเส้นผม จึงเป็นสิ่งที่ควรรู้เอาไว้ เพื่อไม่ให้เผลอทำสิ่งที่เป็นการทำร้ายเส้นผมโดยไม่รู้ตัว แต่ถึงอย่างนั้นแล้วหากเราเป็นคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาผมร่วง ผมบางตามกรรมพันธุ์จนขาดความมั่นใจไป การรักษาด้วยวิธีการปลูกผมก็เป็นทางเลือกที่ดีที่จะเรียกความมั่นใจของเราให้กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นการปลูกผมโดยคุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญ และมีผลงานที่เน้นความเป็นธรรมชาติอย่างที่ Hairsmith clinic ก็ยิ่งมั่นใจได้เลยว่าผลลัพธ์ที่ได้ จะสร้างความประทับใจให้คนไข้อย่างแน่นอน

แชร์บทความนี้

บทความที่เกี่ยวข้อง

คุณหมอพรีมาเข้าร่วมงานประชุม World Congress ครั้งที่ 25
ข่าวสาร
Prima Tossaborvorn

คุณหมอพรีมาเข้าร่วมงานประชุม World Congress ครั้งที่ 25 จัดขึ้นที่กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ค

หมอพรีมาได้มีโอกาสเข้าร่วมงานประชุม World Congress ครั้งที่ 25 จัดขึ้นที่กรุงปราก ประเทศสาธารณรัฐเช็ค ซึ่งเป็นงานประชุมที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกี่ยวกับศัลยกรรมปลูกผม ที่นี่นับว่าเป็นศูนย์รวมของผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยจากทั่วโลกที่มาเสนอผลงานวิจัยใหม่ล่าสุดและแบ่งปันความรู้ทางวิชาการในวงการนี้

ปลูกผม DHI
บทความ
Prima Tossaborvorn

ความเข้าใจผิดระหว่างวิธีปลูกผม DHI กับ FUE

หมอได้ยินคำถามจากคนไข้ต่างชาติว่าวิธีปลูกผมด้วยเทคนิค DHI ดีกว่า วิธีปลูกผม FUE ยังไง คำถามนี้แอบทำให้หมอรู้สึกประหลาดใจเล็กน้อย เนื่องจากด้วยกลยุทธ์โฆษณาในปัจจุบัน บ่อยครั้งมันทำให้คนไข้เริ่มเข้าใจผิด หมออยากเขียนอธิบายเกี่ยวกับวิธีปลูกผม DHI และวิธีปลูกผม FUE ดังนี้ค่ะ

ช่องเสือร้องไห้ YOUTUBER ชื่อดัง เลือกเข้ามาปรึกษาสุขภาพเส้นผมที่ HAIRSMITH CLINIC_1
บทความ
Prima Tossaborvorn

ช่องเสือร้องไห้ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง เลือกเข้ามาปรึกษาสุขภาพเส้นผมที่ Hairsmith Clinic

เมื่อช่องเสือร้องไห้ มีผู้ติดตามบนยูทูปกว่า 3 ล้านคน เข้ามาปรึกษาสุขภาพเส้นผมที่ Hairsmith Clinic พบกับความสนุกสนานพร้อมสอดแทรกสาระความรู้การปลูกผม และสาระน่ารู้เกี่ยวกับเส้นผม

ปลูกผมแบบ NON-SHAVEN FUE กับ FUE ต่างกันอย่างไร_1
บทความ
Prima Tossaborvorn

ปลูกผมแบบ NON-SHAVEN FUE กับ FUE ต่างกันอย่างไร

เข้าใจลึกซึ้งในการเปรียบเทียบระหว่างการปลูกผมแบบ Non-Shaven FUE และ FUE ทั่วไป ทำความเข้าใจในข้อดีและข้อเสียของแต่ละวิธี, รวมถึงการฟื้นตัวหลังการผ่าตัด หาคำแนะนำที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการเลือกระหว่างวิธีการปลูกผมแบบ Non-Shaven FUE หรือ FUE ทั่วไป ทำให้การตัดสินใจของคุณเป็นไปอย่างมีข้อมูลและมั่นใจ.